ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอวาโย" จี้ รบ.แก้ปม 'ใบส่งตัว-งบผู้ป่วยใน' ตั้งคำถาม 30 บาทรักษาทุกที่ได้จริงหรือไม่ เหตุบริบท กทม.ต่างจาก ตจว. บริการสุขภาพมีอย่างน้อย 6 ต้นสังกัด ปชช.ไม่สามารถใช้บริการรพ.ใหญ่ได้

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง  สมาชิกรัฐสภา กล่าวในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครังที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ถึงประเด็น 30 บาทรักษาทุกที่ในกทม.  ว่า รัฐบาลให้คำมั่นว่านโยบายที่ 10 จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสะท้อนในส่วนประการที่สองคือสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์  อายุจำนวนเพิ่มขึ้น วัยเกษียณมีจำนวนเพิ่มขึ้น วัยทำงานที่แบกรับค่าใช้จ่าย และผู้บริหารประเทศลดลง  และสุดท้ายรัฐบาลยอมรับว่าภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับ ด้านงบประมาณสาธารณสุขมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

รัฐบาลได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา คือ การอัพเกรดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคให้กลายเป็น "นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่"  นอกจากนั้นยังมีการขยายเครือข่ายปฐมภูมิ พัฒนาระบบเทเลเมดิซีน ลดเวลาลดค่าใช้จ่าย สนับสนุนทางด้านวัคซีน HPV ส่งเสริมป้องกันควบคุมโรค NCDs และบริการทางด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด ให้ความรู้กับประชาชน 

“พรรคประชาชนไม่มีตรงไหนที่คัดค้าน ในทางกลับกันนโยบายเหล่านี้ ต้องให้การสนับสนุน เชื่อว่ารัฐบาลไหนมาก็ตาม ถ้าทุกคนต้องขึ้นมาแถลงนโยบายสาธารณสุขก็ไม่ได้แตกต่างกัน”  นพ.วาโย กล่าว

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า แต่สิ่งสำคัญจะทำอย่างไรให้รัฐบาลสามารถก้าวไปตามนโยบายที่วางไว้ได้  ซึ่งขณะนี้ถ้าประชาชนเห็นสติกเกอร์ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่ติดอยู่ศูนย์บริการสาธารณสุข ร้านขายยาที่ไหนก็ตาม ถ้าเจอสามารถถือบัตรประชาชนเข้าไปใช้บริการได้เลย  แต่ประชาชนสะท้อนกลับมาว่า "รักษาทุกที่จริงหรือไม่"  นโยบายนี้รัฐบาลเริ่มใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 โดยนำร่องครั้งแรก 4 จังหวัด หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็นเฟส2 เฟส3 เฟส4 

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เพิ่มในส่วน กทม. ซึ่งตอนนี้เริ่มได้ประมาณ 2 สัปดาห์ สิ่งสำคัญคือต่างจังหวัดที่ทำมาแล้วทุกที่พอไปได้ สภาพแวดล้อมทางศูนย์บริการต่างจังหวัดพอไปได้ แต่กรุงเทพมหานครมีระบบที่แตกต่างจากสาธารณสุขในต่างจังหวัดมาก ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ไม่สามารถคลอบคลุมได้ทุกพื้นที่ เพราะเนื่องจากบริการสุขภาพในต้นสังกัดมี อย่างน้อย 6 ต้นสังกัด เช่น โรงเรียนแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลตำรวจ ฯลฯ 

ถามว่าสรุปแล้วในกรุงเทพมหานครประชาชนสามารถไปใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาลใหญ่ อย่างเอาแค่กระทรวงสาธารณสุขได้หรือไม่….  ซึ่งปรากฏว่าประชาชนไปใช้บริการได้แค่ ศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่นเท่านั้น  รวมถึง ร้านขายยา คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย 

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า  เดิม 30 บาทรักษาทุกโรคที่ใช้มาเกือบ 20 ปี ที่สำคัญหลักๆ มี 2 ประการแรก นักเรียน นักศึกษา วัยทำงานจากต่างจังหวัด ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาในกทม.แต่ไม่ได้ย้ายสิทธิมาไม่สามารถใช้สิทธิบริการได้  หลังจากนั้นเริ่มมีการย้ายเข้ามาแล้ว แต่มีปัญหาว่ามันเต็มแล้วในกทม.ก็แน่นอยู่แล้ว ปรากฏว่าย้ายมาไม่ได้

ประการที่ 2 เรื่องใบส่งตัว อย่าง ผู้สูงอายุจากโรงพยาบาลศูนย์ส่งเข้าโรงเรียนแพทย์ ต้องมีใบส่งตัว ปัญหาคือใบส่งตัวมีวันหมดอายุ  ฉะนั้นต้องกลับไปต้นสังกัดเพื่อให้หมอเขียนใบส่งตัวมาใหม่ใบเดิมใช้ไม่ได้ บางครั้งต้องให้ญาติไปขอใบส่งตัวมาใหม่แทน  

"แล้วในกรุงเทพมหานคร ในส่วนของร้านยาหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นต่างๆ แก้ปัญหานี้ได้หรือไม่..  เจตนารมย์ของ "30 บาทรักษาทุกที่"  เข้าใจว่าไม่อยากให้มีใครล้มละลายจากการเจ็บป่วย แต่การเจ็บป่วยเล็กน้อยยังไม่ล้มละลาย คือปัญหาอะไรต้องหาเหตุใดเป็นโรคมะเร็งบ้างตรงนี้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่เราคาดหวังว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเป็นพ้อยท์สำคัญสองประการให้กับคนไทยได้ มันแก้ปัญหาได้หรือไม่…" นพ.วาโย กล่าว

ส่วนในเรื่องงบประมาณผู้ป่วยในบัตรทองไม่ได้โอนผ่านโรงพยาบาลโดยตรง แต่ผ่าน สปสช. โดยมีการจ่ายเป็น 2 แบบคือ จ่ายตามรายหัว จ่าย 3,000 บาทต่อหัวประชากร ส่วนงบผู้ป่วยในจ่ายตามหน่วย 8,350 /หน่วย  ซึ่งปัญหาพบว่าเมื่อกลางปีจ่ายเพียง 7,000 ต่อหน่วย ลดไป 16.17% ถามว่าเกิดอะไรขึ้นเงินหายไปไหน...