“สมศักดิ์” เผย 4 วัน อสม.แสดงความเห็น ร่าง พ.ร.บ.อสม. กว่า 7.7 หมื่นคน เห็นด้วย 6.8 หมื่นคน ยังมีเวลาแสดงความเห็นถึง 11 ก.ค.67 ชี้ อสม.จะเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพปฐมภูมิ ลดคนเจ็บคนป่วย สอดรับนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ยังเปิดช่องโอกาสอัปเกรดเป็น “ผู้ช่วยพยาบาล”
ตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้จัดทำ ร่างพระราชบัญญัติ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ. หรือเรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.อสม.พ.ศ.. ขึ้นเว็บไซต์ของกรมฯ และเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2567 จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นั้น
(ข่าว : "สมศักดิ์" ชวนแสดงความคิดเห็น "ร่าง พ.ร.บ.อสม." ก่อนเสนอครม.เห็นชอบ)
4 วัน อสม.แสดงความเห็นกว่า 7.7 หมื่นคน เห็นด้วย 6.8 หมื่นคน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผ่านเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย โดยจะเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น 15 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 โดยภายหลังรับฟังความคิดเห็นแล้ว ก็จะมีการนำความคิดเห็นทั้งหมดมาพิจารณาปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อสม. ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
“หลังรับฟังความคิดเห็นมาได้ 4 วัน มีประชาชน เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากแล้ว โดยขณะนี้ แสดงความคิดเห็นทุกช่องทางแล้ว 77,080 ราย ซึ่งเห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.อสม. 68,505 ราย โดยผมต้องการรับฟังความคิดเห็นให้ได้มากที่สุด เนื่องจาก อสม.ทั่วประเทศมีกว่า 1 ล้านคน จึงขอเชิญชวนพี่น้อง อสม. เข้ามาแสดงความคิดเห็น เพื่อช่วยกำหนดเครื่องมือในการทำงาน และความก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืน ของ อสม. ที่ถือว่า มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ต้องช่วยดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.อสม. ตอนหนึ่งระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โรงพยาบาลลาดยาว ตำบลสระแก้ว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และพบปะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า ตนคิดเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการสธ. เพราะดูจากข้อมูล คนเข้าโรงพยาบาลเยอะมาก อย่างผู้ป่วยนอกเข้ารพ.ปีละกว่า 300 คนครั้งโดยประมาณ คนหนึ่งเข้ารพ.ประมาณ 6 ครั้ง จึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนป่วยน้อยลง ซึ่งอสม. จะมาช่วยกันดำเนินการให้คนป่วยน้อยลงได้ด้วยการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่นการออกตรวจสุขภาพ ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดัน ลดอาหารพวก “หวาน มัน เค็ม” เป็นต้น
แม้แต่สถานชีวาภิบาล ก็ต้องมีอสม.เข้ามาช่วย ขณะที่รัฐบาลยังมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งเป็นภารกิจที่ทาง อสม.ก็ต้องมาช่วยในแง่การส่งเสริมป้องกันโรค เพราะ 30 บาทรักษาทุกที่ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปรพ.ใหญ่ๆ แต่เป็นการรักษาใกล้บ้าน และเน้นบริการปฐมภูมิ ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับ อสม.ในการปฏิบัติงาน ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.อสม.พ.ศ.. ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ขอให้ อสม. ทุกคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567
คำถามสำคัญ อสม.ควรกำหนดอายุเกษียณด้วยหรือไม่
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การมีกฎหมายก็จะช่วยให้เกิดความมั่นคง เห็นได้จากที่ผ่านมาอย่างค่าป่วยการที่ได้ขึ้น 2,000 บาท ก็มาจากมติคณะรัฐมนตรี จากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี การจะได้ขึ้นค่าป่วยการ ต้องผ่านการพิจารณาจาก ครม. แต่หากมีกฎหมาย ก็จะมีความมั่นคงมากขึ้น ดังนั้น อสม.ทุกคนขอให้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกัน
“ในร่างกฎหมาย จะมีรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะมีคำถามเรื่อง อายุการเป็น อสม. เห็นว่า ควรเท่าไหร่ และ อสม. ควรต้องมีการเกษียณอายุด้วยหรือไม่ และบางข้ออาจตกใจว่า ไปจำกัดสิทธิหรือไม่ ไม่ต้องกังวล เพราะนี่เป็นร่างเบื้องต้น ยังแก้ไขได้อีกหลายครั้ง” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อแสดงความคิดเห็นแล้วก็จะต้องมีการพิจารณารวบรวม จากนั้นเข้าครม. และส่งคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นส่งกลับ ครม. และส่งยังสภาผู้แทนราษฎร และส่งต่อสมาชิกวุฒิสภา เหมือนจะมี อสม.เป็น สว.ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะเป็นผู้แทนด้วย แม้บทบาทของ สว.จะมีน้อยก็ตาม
หากปฏิบัติงานปฐมภูมิดี มีโอกาสอัปเกรดเป็น ‘ผู้ช่วยพยาบาล’
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.อสม. ยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะมีคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ในเรื่องสิทธิประโยชน์ของอสม. เช่น 1.สิทธิแต่งเครื่องแบบ หรือตราสัญลักษณ์ ของ อสม. 2.สิทธิได้รับสวัสดิการช่วยเหลือรักษาพยาบาล เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าอาหาร รวมถึงคู่สมรส และบุตรอสม. 3.สิทธิได้รับการเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ โดยเบิกได้เท่าเทียมข้าราชการระดับปฎิบัติการ 4.ได้รับเงินค่าป่วยการปัจจุบันเดือนละ 2,000 ต่อคนต่อเดือน 5.ได้รับการประกาศเกียรติคุณ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นอกจากนี้ ยังได้รับการศึกษาและอบรมสถาบันการศึกษา เช่น หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งค่าป่วยการก็จะขึ้นด้วย แต่ไม่ใช่ทุกคน
“การปฏิบัติงานของ อสม.ในเรื่องงานปฐมภูมิ ถ้าทำได้ดี ทางสธ.ก็อยากจะอัปเกรดให้พวกท่านได้ขึ้นเป็นผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งก็จะมีกฎหมายในอนาคต ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะออกกฎหมายให้เพื่อความยั่งยืน และเรายังสามารถได้เครื่องราชฯ อสม.อีกด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
“สมศักดิ์” เผย เปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.อสม. 4 วัน ยอดพุ่ง 7.7 หมื่นราย เห็นด้วยแล้ว 6.8 หมื่นราย เชิญชวน อสม. 1 ล้านคน ร่วมออกความเห็น-กำหนดเครื่องมือทำงาน เพื่อความก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืน ย้ำ เปิดฟังความเห็นถึง 11 ก.ค.นี้ โชว์ รับตำแหน่งไม่ถึง 2 เดือน แต่ทำให้เป็นรูปร่างแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. อสม. พ.ศ... จะมีคำถามที่เกี่ยวกับภารกิจ อสม. ตั้งแต่
ข้อ 6 ถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า อาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน”
มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุขมูลฐาน
(2)ให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน
(3)จัดกิจกรรมเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสาธารณสุขที่สอดคล้องกับสภาวะสุขภาพของท้องถิ่น
(4) เป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
(5) ให้ความรู้ด้านการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน
ข้อ 7 ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดประเภทของ อสม.
เป็น 3 ประเภท กล่าวคือ
(1) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เรียกโดยย่อว่า อสม.
(2) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า อส. กทม.
(3) อาสาสมัครอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เช่น ยุว อสม., อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน, อาสาสมัครสาธารณสุขการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, อาสาสมัครสาธารณสุขกิตติมศักดิ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่กำลังเป็นประเด็นน่าสนใจ คือ
ข้อ 9 ท่านเห็นว่า ผู้ที่จะสมัครเป็น อสม. จะต้องมีอายุเท่าไหร่
ซึ่งจะมีคำตอบให้เลือกตามช่วงอายุต่างๆ ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึง 40 ปี 45 ปี 50 ปี 55 ปี 60 ปี หรือเป็นอสม.ตั้งแต่อายุ 18-65 ปี
ข้อ 11 ถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ อสม. เกษียณ เมื่อมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์”
(แต่ยังคงเป็น อสม. ลักษณะอื่น ที่ยังคงมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์อื่น นอกจากค่าป่วยการ)
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “สมศักดิ์” ลั่นร่างพ.ร.บ.อสม. ไม่กระทบคนเก่า ส่วนปมเกษียณ 70 ปี ยังได้สิทธิอื่นๆ เว้นค่าป่วยการ)
ข้อ12 เห็นด้วยหรือไม่กับการจัดให้มีประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานของ อสม. อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ข้อ 13 ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มี “กองทุนสนับสนุนการปฏิบัติงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน”
เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. รวมทั้งการช่วยเหลือ การสงเคราะห์ สวัสดิการ และการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับ อสม.
ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างคำถาม ซึ่ง อสม. สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ตามนี้
คลิก ร่างพ.ร.บ.อสม.
อ่านข่าวอื่นๆ :
-"พ.ร.บ.อสม." ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของระบบสุขภาพ สร้างความเหลื่อมล้ำ-สร้างภาระงบฯ
-"เลอพงศ์" เผยการออก "พ.ร.บ.อสม." ต้องคิดรอบด้าน หวั่นเป็นภาระงบประเทศชาติ
- หนุนเกิด "พรบ.อสม." เพื่อความมั่นคงทั้งค่าป่วยการ-สวัสดิการอื่นๆ และช่วยอสม.มีตัวตนมากขึ้น
- อีกเสียง! อยากให้มี "พรบ.อสม." คุ้มครองความปลอดภัย-ค่าป่วยการยั่งยืน ชี้ควรกำหนดอายุอสม. 25-50 ปี
-"สมศักดิ์" จ่อดัน พ.ร.บ.อสม. เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ดูแลปชช.ขั้นปฐมภูมิ
- ชมรม อสม.ภาคอีสาน หนุนเกิด "พ.ร.บ.อสม." ชี้ช่วยเพิ่มมาตรฐานการทำงาน
- 5513 views