ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เผยมีผู้เสียชีวิตจาก “น้ำท่วม” เพิ่ม 1 ราย เหตุสำลักน้ำจนปอดติดเชื้อ บาดเจ็บเพิ่ม 220 ราย สูญหาย 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ “เชียงราย” ส่วน“สงขลา” น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านพัก รพ.สะเดา บุคลากรบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย ระดับน้ำเริ่มลดลง กำชับภาคใต้เฝ้าระวังใกล้ชิด เตือน 9 จังหวัดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง ดูแลขวัญกำลังใจบุคลากร

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข   นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 12/2567 ว่า สถานการณ์โดยรวมยังมี 19 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ที่ จ.เชียงราย จากการสำลักน้ำ ปอดติดเชื้อ รวมเสียชีวิตสะสม 52 ราย บาดเจ็บเพิ่ม 220 ราย สะสม 1,722 ราย และสูญหาย 1 ราย ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในเชียงราย

สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 5 แห่ง ที่เชียงใหม่ 2 แห่ง และลำพูน 3 แห่ง รวมได้รับผลกระทบ 85 แห่ง ปิดให้บริการ 3 แห่ง ที่ รพ.สต.แม่ปูนล่าง จ.เชียงราย รพ.ลานนา 3 จ.เชียงใหม่ และ รพ.สต.ป่าแมต จ.แพร่ เปิดศูนย์พักพิงเพิ่มขึ้นรวมเป็น 131 แห่ง มีผู้รับบริการ 656 ราย ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางแล้ว 24,871 ราย ยังคงพบน้ำกัดเท้าเข้ารับการรักษามากที่สุด ส่วนประเมินด้านสุขภาพจิต 32,508 ราย พบเครียดสูง 1,163 คน เสี่ยงซึมเศร้า 215 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 30 คน โดยส่งต่อแพทย์แล้ว 225 คน

นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ใน จ.สงขลา พบว่า ในรอบ 2 วันที่ผ่านมา เกิดเหตุอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบต่อรพ.สะเดา บริเวณบ้านพัก โรงครัว โรงจอดรถ กลุ่มจิตเวชและยาเสพติด และโรงสูบน้ำ แต่ไม่ได้กระทบในส่วนให้บริการผู้ป่วย จึงยังให้บริการได้ตามปกติ โดยมีบุคลากรได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย จากการลื่นล้มขณะเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ ส่วนบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้านพักได้ย้ายมาพักบริเวณอาคารอุบัติเหตุและอาคารแผนไทย ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว แต่ยังเฝ้าระวังต่อเนื่องถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2567

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สถานการณ์ในระยะถัดไป พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งใน 9 จังหวัด ได้แก่ ลำน้ำแม่ลาว จ.เชียงราย, แม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่, แม่น้ำวัง จ.ลำปาง จ.ตาก, แม่น้ำยม จ.แพร่ จ.สุโขทัย, แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร และลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ส่วนพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 28-29 กันยายน 2567 ได้แก่ เชียงราย (อ.แม่ออน อ.ดอยสะเก็ด) และยะลา (อ.ธารโต) ได้กำชับให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้ป่วย และกลุ่มเปราะบางในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าภาพรวมทรัพยากรคงคลังและอัตราการใช้ยาและเวชภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ยังมีเพียงพอ นอกจากนี้ ให้ดูแลช่วยเหลือ สร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบด้วย ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ภาพรวมสถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลายแล้ว แต่วันนี้ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีฝนเพิ่มขึ้น

(ข่าวอื่นๆ : ราชกิจจาฯ ประกาศแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการระดับสูง สธ. 13 ราย มีผล 1 ต.ค.นี้

กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังใจ  

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่เสียสละ ทำงานด้วยความเป็นจิตอาสา ซึ่งจากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นวงกว้าง อสม.จึงเป็นกลไกในชุมชนที่จะสร้างการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือให้ประชาชนได้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี กรมสุขภาพจิต ได้จัดทีมปฏิบัติการ MCATT ลงพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกับ สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ตั้งชุดปฏิบัติการ “เคาะประตูบ้าน” โดยมีทีม อสม.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เชิงรุกเข้าพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบอุทกภัยให้ได้รับการดูแลด้านจิตใจทันที

แต่ทว่า อสม.เองซึ่งอยู่ในชุมชนที่เกิดเหตุอุทกภัยเป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบ และต้องเป็นผู้ให้การช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งถือว่า อสม. ต้องทำงานอย่างหนักในพื้นที่มาตลอดกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลอาจเกิดความเครียด รู้สึกหงุดหงิดและเหนื่อยล้า วิตกกังวล การกิน การนอนผิดปกติ หรือมีภาวะหมดไฟได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทีม อสม.ต้องคอยสับเปลี่ยนกันหมุนเวียนกันในการทำงาน เพื่อเติมพลังใจเสริมพลังกายให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลจิตใจประชาชนได้อย่างเต็มกำลัง

ว่าที่ร้อยโทโฆษิต กัลยา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 กล่าวว่า การดูแลจิตใจตนเองของ อสม.เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมในการช่วยเหลือคนในชุมชน การสร้างพลังใจ คือ กำลังใจที่ดีซึ่งสร้างได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น มองสิ่งที่ดีและมองข้อดีของตนเอง สร้างความรู้สึกขอบคุณ ทบทวนสิ่งดีๆในชีวิต ช่วยเหลือผู้อื่นให้เป็นสุข ยิ้มไว้เสมอ ชื่นชมตัวเอง รวมทั้งมีความภาคภูมิใจในตนเองในการเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ อสม.ได้มีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แม้ว่าบ้านของตัวเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น การสร้างเสริมพลังใจให้กับ อสม.จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ อสม. มีพลังใจที่เข้มแข็งในท่ามกลางความกดดันและสถานการณ์ที่ยากลำบาก อสม.ยังสามารถค้นหาความสุขได้ แม้จะเป็นความสุขที่ไม่ใช่สุขสบาย แต่เป็นความสุขในรูปแบบที่เกิดจากการมีคุณค่าในการได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้สามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำในการเฝ้ารังและป้องกันผู้อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิต ควรใช้หลัก 3 ส. ได้แก่ ส.1 สอดส่องมองหา โดยการสังเกตคนรอบข้างและคนใกล้ชิด เช่น นอนไม่หลับ เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน เบื่ออาหาร ส.2 ใส่ใจรับฟัง ให้เขาระบายความในใจออกมา อาจสื่อสารด้วยภาษากาย การสัมผัส โอบกอด และ ส.3 ส่งต่อเชื่อมโยง หากยังไม่ดีขึ้นให้ส่งต่อเชื่อมโยงสาธารณสุขในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน