สธ.ร่วมเวทีหารือระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ของกลุ่มเพื่อนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าฯ ที่สหรัฐอเมริกา ดันการบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายในปี ค.ศ. 2030 เน้นป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของประชาชน ในการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้า และการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 67 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 23-26 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานของกลุ่มเพื่อนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพทั่วโลก ครั้งที่ 5 (Group of Friends of Universal Health Coverage and Global Health, GoF UHC) ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 79 โดยมี นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพเปิดงานร่วมกับรัฐมนตรีสาธารณสุขญี่ปุ่น และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจอร์เจีย ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจากหลายประเทศ อาทิ มอลตา ยูกันดา ฮังการี สาธารณรัฐโดมินิกัน องค์การอนามัยโลก และ UHC 2030 เข้าร่วม ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นพ.ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Financial protection: the key to unlocking universal health coverage and ensuring equitable access for all” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาพลวัตของการผลักดันวาระการบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) เน้นประเด็นการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงบทบาทของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance : AMR)ซึ่งประเทศไทยในฐานะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเป็นต้นกำเนิดระบบ จากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และยกระดับมาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ได้เชิญชวนประเทศต่างๆ ร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยินดีให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบเพื่อความยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของแต่ละประเทศต่อไป
“ถึงแม้เราจะเป็นผู้นำทางด้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังคงมีส่วนที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงอีกหลายประการ เพื่อให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงการรักษาอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม รวมไปถึงการจัดระบบบริหารกองทุน ให้มีความสมดุลและมีธรรมาภิบาลสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย” นพ.ภาณุมาศกล่าว
- 113 views