ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"สมศักดิ์-เดชอิศม์" ติดตาม "น้ำท่วม" เผยยังมีเหตุการณ์ใน 16 จ. รพ.ปิดบริการ 2 แห่ง ที่ รพ.สต.แม่ปูนล่าง และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ส่วนน้ำท่วม รพ.ลานนา 3 บุคลากรปลอดภัย ปรับแผนให้บริการแล้ว พร้อมออก 5 ข้อสั่งการทุกพื้นที่เฝ้าระวัง เตรียมทีมฉุกเฉินดูแลผู้ประสบภัย ฟื้นฟูหลังน้ำลด 

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567  ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 10/2567 ร่วมกับกองสาธารณสุขฉุกเฉิน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ยังมีสถานการณ์ใน 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก มหาสารคาม หนองคาย บึงกาฬ เลย นครพนม และอุดรธานี มีการเปิดศูนย์พักพิง 96 แห่ง ใน 11 จังหวัด ผู้บาดเจ็บสะสม 1,500 ราย เสียชีวิตสะสม 49 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 79 แห่ง ปิดให้บริการ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.แม่ปูนล่าง จ.เชียงราย และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ (รพ.แม่และเด็ก) ซึ่งมีผู้รับบริการหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 10 ราย กลับบ้านได้ 7 ราย และลำเลียงย้ายไป รพ.นครพิงค์ 3 ราย ทั้งหมดดำเนินการไปได้ด้วยดี

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขรวม 1,648 ทีม ให้บริการประชาชนสะสม 147,531 ราย พบผู้เจ็บป่วยสะสม 11,385 ราย ส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า 5,568 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางสะสม 24,058 ราย มีการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์รวม 190,545 ชุด ส่วน  จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยระยะเผชิญเหตุ เมื่อคืนวันที่ 25 กันยายน 2567 น้ำได้ไหลเข้าท่วม รพ.ลานนา3 (ตึกใหม่) บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนปลอดภัย รถชั้นใต้ดิน อุปกรณ์แผนกผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน ที่ชั้น 1 ขนย้ายได้ทัน ได้ปรับมาใช้บริการผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน ที่ลานนา 1 แทน ขณะที่ จ.สุโขทัย และ จ.เชียงราย มีการช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่หลังน้ำลดเข้าสู่ระยะฟื้นฟูแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีข้อสั่งการ 5 ข้อ คือ 1.ให้จังหวัดหรือพื้นที่เสี่ยงติดตามเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาฉุกเฉินและดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ 2. ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ประสบภัย โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัย เช่น ศูนย์อพยพ โรงพยาบาล หรือ รพ.สต. เพื่อความปลอดภัยและลดความวิตกกังวลของญาติ กรณีไม่ประสงค์ขออพยพ ให้บุคลากรแพทย์ และ อสม.ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรเป็นสำคัญ 3. เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และการส่งต่อผู้ป่วย รองรับพื้นที่น้ำท่วมสูงและไม่สามารถใช้เส้นทางปกติได้ รวมทั้งประสานการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอากาศยานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความรวดเร็วในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน    

4. จังหวัดที่น้ำลด ให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ดูแลสุขภาพจิต และเฝ้าระวังโรคระบาด เร่งสำรวจและฟื้นฟูสถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหายให้สามารถกลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว และ 5. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล สำรองยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพออย่างน้อย 3 เดือน พิจารณาตามความเสี่ยงของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และทบทวนข้อมูลคงคลังให้ถูกต้องครบถ้วน โดยให้รายงานทรัพยากรคงคลังและอัตราการใช้ทรัพยากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมายังส่วนกลางทุกสัปดาห์ ภายในวันศุกร์ เวลา 16.00 น.