ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ขณะนี้มี 10 จังหวัด ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย บาดเจ็บเพิ่ม 3 ราย ผลกระทบสถานบริการสาธารณสุขรวม 71 แห่ง เร่งติดตาม "น้ำท่วม" ลำปาง หลังระดับน้ำเพิ่มขึ้น ช่วยย้ายกลุ่มเปราะบางไปศูนย์พักพิง 6 ราย 

เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 8/2567 ร่วมกับกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า ภาพรวมขณะนี้ยังมีสถานการณ์ใน 10 จังหวัด ได้แก่ 

  1. เชียงราย 
  2. ลำปาง 
  3. พิษณุโลก 
  4. พิจิตร 
  5. พระนครศรีอยุธยา 
  6. นครนายก 
  7. หนองคาย 
  8. บึงกาฬ 
  9. นครพนม 
  10. อุดรธานี 

มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย สะสม 48 ราย บาดเจ็บเพิ่ม 3 ราย สะสม 1,260 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสมเพิ่มเป็น 71 แห่ง เปิดบริการตามปกติ 69 แห่ง ปิดบริการ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.บ้านข่วง จ.ลำปาง และ รพ.สต.เขาขาว จ.สตูล จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 1,648 ทีม ให้บริการสะสม 143,451 ราย ให้บริการด้านสุขภาพจิต 28,235 ราย มีภาวะเครียดสูง 979 ราย เสี่ยงซึมเศร้า 185 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 ราย ส่งต่อพบแพทย์ 202 ราย และให้การดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 9,864 ราย 

"จากการคาดการณ์น้ำในลำน้ำมีพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน (อ.เวียงสา) จากแม่น้ำน่าน  จ.ลำปาง (อ.เถิน) จากแม่น้ำวัง และ จ.ตาก (อ.สามเงา) จากแม่น้ำวัง ขณะที่วันที่ 24-26 กันยายน 2567 มี 4 จังหวัดที่มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร ได้แก่ เลย ตาก ยะลา และกำแพงเพชร จึงได้กำชับและเน้นย้ำให้เตรียมความพร้อม เฝ้าระวังสถานการณ์ และวางมาตรการรับมือ" นพ.วีรวุฒิกล่าว

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตและการป้องกันควบคุมโรคติดต่อใน จ.เชียงราย พบว่า จากการจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤต (MCATT) ตั้งแต่วันที่ 9-21 กันยายน 2567 มีผู้เข้าประเมินสุขภาพจิต 5,559 ราย ผู้ประสบภัยมีความเครียดมากและมากที่สุด 381 ราย มีภาวะซึมเศร้า 12 ราย และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 ราย ให้การดูแลปฐมพยาบาลทางใจ 3,836 ราย สุขภาพจิตศึกษา 518 ราย การจัดการความเครียด 672 ราย จิตบำบัดแบบประคับประคอง 69 ราย เสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ 464 ราย และมีแผนติดตามประเมินดูแลอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มาจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจสะสม 1,164 ราย โรคระบบทางเดินอาหาร 895 ราย โรคไข้เลือดออก 518 ราย โรคตาแดง 65 ราย โรคฉี่หนู 9 ราย และโรคเมลิออยโดซิส 6 ราย ขณะที่ จ.ลำปาง พบว่าส่วนใหญ่หลายพื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ บางพื้นที่ระดับน้ำลดลง ยกเว้น อ.เกาะคา ที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้น จากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก มีการเปิดศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยดูแล 2 แห่ง ที่ รพ.สต.บ้านจู๊ด และวัดนาแส่ง โดยช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นผู้สูงอายุติดบ้าน 6 คน ไปยังศูนย์พักพิงวัดนาแส่งแล้ว พร้อมทั้งสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ สื่อสารความเสี่ยงการป้องกันโรคและสุขาภิบาล รวมถึงเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม