ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข ฉุนปม รพ.ขาดทุน เงินบำรุงไม่พอ จะผลิตหรือจ้าง “ผู้ช่วยพยาบาล” อย่างไร ชี้ต้องเข้าใจแก่นแกนก่อน หากใครสงสัยให้มาถาม ลอยๆ แบบนี้ไม่ได้ ย้ำเดินหน้าผลิตผู้ช่วยพยาบาล ลดปัญหาภาระงานปัจจุบัน ชงแผนผลิต 60 คนต่อจังหวัด ให้ทุนเรียน รวมถึงอัปเกรดผู้ช่วยเหลือคนไข้ ที่มีคุณสมบัติได้เรียนด้วย

เมื่อวันที่ 4 กันยายน  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า ที่ประชุมได้รายงาน “แผนการผลิตผู้ช่วยพยาบาล”  โดยจะรับผู้เรียนในพื้นที่ 60 คนต่อจังหวัด ค่าเรียน 50,000 บาทต่อคน เป็นการให้ทุนเรียน รวมถึงจะอัปเกรดผู้ช่วยเหลือคนไข้ ที่มีคุณสมบัติ เช่น วุฒิการศึกษา ม.6 ให้เป็นผู้ช่วยพยาบาล โดยให้เรียนต่ออีก 1 ปี ซึ่งจะเป็นการให้เจ้าหน้าที่เก่ามาอัปเกรดก่อน แต่ก็ขอให้ทุกหน่วยงาน คิดนอกกรอบด้วยการให้เอกชนเปิดสอนเพิ่ม จะได้ไม่ขาดแคลน แต่เรื่องนี้ ก็ต้องฟังความเห็นของสภาการพยาบาลด้วยว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีข้อกังวล รพ.ขาดทุน เงินบำรุงไม่พอ รพ.บางแห่งจะสามารถผลิต รวมถึงจ้าง “ผู้ช่วยพยาบาล” ได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลไหนถามให้มาถาม ลอยๆแบบนี้ไม่ได้ หลักคิดแนวทางต่างๆ หากไม่เข้าใจตัวจำนวนเต็มเท่าไหร่ ใช้เท่าไหร่ ก็จะมีคำถาม ถ้าอย่างโน้น ถ้าอย่างนั่น ซึ่งไม่ใช่ ต้องเข้าใจแก่นแกนว่า คืออะไร อย่างที่บอกงบผู้ป่วยในขาดไปเท่าไหร่ อย่าง 2% ก็บริหารจัดการเกลี่ยส่วนอื่นมาใช้

ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าร่างกฎหมายที่สำคัญ ทั้งร่าง พ.ร.บ.อสม. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข และร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต โดยร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ตนได้ลงนามเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อส่งเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งเรื่องร่างกฎหมาย ตนได้เน้นย้ำให้ระบุวันเวลาไทม์ไลน์ให้ชัดเจน จะได้ติดตามสถานะได้ถูก เพราะกฎหมายถือเป็นเครื่องมือการทำงาน ถ้าไม่มีกฎหมาย การทำงานก็ลำบาก

อนึ่ง  แผนผลิตผู้ช่วยพยาบาล (PN) เขตสุขภาพที่ 1-12 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2569 เป็นนโยบายเร่งผลิตผู้ช่วยพยาบาลเพิ่มเพื่อช่วยผ่อนคลายฯ (ภายใน 2 ปี) ในระยะเร่งด่วน 2 ปี ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์พยาบาลขาดแคลน ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้รับผู้เรียนในพื้นที่ 60 คนต่อจังหวัด ค่าเรียน 50,000 บาท/คน  โดยปี 2568 อบรม 3,309 คน ใช้งบ 165,450,000 บาทและ ปี 2569 อบรม 3,158 คน ใช้งบ 157,900,000 บาท โดยมีแหล่งผลิตที่ MOU 52 แห่ง ดังนี้ สถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) 30 แห่ง, มหาวิทยาลัย 7 แห่ง, ม.ราชภัฏ 9 แห่ง, ม.เอกชน 6 แห่ง กระจายทุกเขต

ขอบคุณแฟ้มภาพจากสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.)