ประธานชมรม อสม. เผย เห็นด้วยกรณีให้อสม. อบรมหลักสูตร "ผู้ช่วยพยาบาล" ช่วยเพิ่มความรู้และศักยภาพให้อสม. มากขึ้น กังวลจำนวนคนผ่านเกณฑ์อาจมีน้อย เนื่องจากมีอสม.อายุ 40 ปี ขึ้นไปประมาณ 70% แต่มั่นใจไม่มีผลกระทบทำให้ อสม. ลาออกจากจิตอาสา
นายจำรัส คำรอด ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จากที่มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขจะให้อสม.เรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาล นั้นข้อมูลตรงนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนว่าให้ ไปเรียน 6 เดือนแล้วฝึกงาน 6 เดือนจะมีงานรองรับหรือไม่ ผมมองว่าถือว่าเป็นความคิดที่ดีที่จะทำให้ อสม.มีความรู้และความสามารถมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเองและเพิ่มศักยภาพตัวเองเพราะฉะนั้นถือว่าเป็นโครงการที่ดีสำหรับ อสม. และจะได้มีงานประจำด้วย
ส่วนเรื่องที่กังวล ก็มีความกังวลว่าตอนนี้อสม. ส่วนใหญ่อายุมากแล้ว มีอสม. อายุ 40 ปี ขึ้นไป เฉลี่ยอยู่ที่ 70% ซึ่งอาจจะทำให้ อสม. ที่จะไปพัฒนาศักยภาพอาจจะมีน้อยและในการคัดเลือกนั้นอยากฝากว่าต้องแบ่งเป็นรายเขตหรือรายภาคถึงจะสามารถดูแลและทำงานได้ทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรียนไปแล้วหากจบออกมามีเงินเดือนให้อสม.ที่จะไปเป็นผู้ช่วยพยาบาลอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้ อสม. เองสามารถช่วยเหลือชุมชนได้มากขึ้น
เมื่อก่อน อสม.ยังไม่มีค่าป่วยการจะทำงานจิตอาสาตามหมู่บ้านตามชุมชนของตัวเอง ซึ่งจะทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ว่างเวลาไหนก็ทำเวลานั้น ยังไม่มีการกำหนดว่าจะต้องไปทำงานทุกวัน หน้าที่ อสม. เมื่อก่อน อย่างเช่น การจัดการยุงลาย การคว่ำถัง รวมไปถึงเรื่องพิษสุนัขบ้าหรืองานควบคุมโรคต่างๆ งานโรคระบาดตามฤดูกาล เป็นต้น
ซึ่งช่วงหลังมานี้ ตั้งแต่มีค่าป่วยการมาเดือนละ 600 บาท จึงทำให้ อสม. ทำงานหนักมากขึ้นและปัจจุบันก็มีค่าป่วยการเพิ่มขึ้น เป็นเดือนละ 1,000 บาท ก็ยิ่งทำงานหนักมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นการที่ทำงานเป็นจิตอาสาเหมือนเมื่อก่อนอาจจะลดน้อยลง เพราะมันกลายเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพราะต้องมีการส่งงานประจำทุกเดือน ซึ่งล่าสุดปัจจุบัน อสม. ต้องทำงานทุกวัน 1 เดือน มี 30 วัน อสม. ทำงานอย่างน้อย 20 วัน ซึ่งเป็นงานที่หนักมากไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดนก การดูแลผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงการดูแลผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เป็นต้น
และนอกจากนี้จะมีการอบรมเพื่อให้อสม. ช่วยงานใน รพสต. ในการคัดกรองผู้ป่วยความดันเบาหวาน รวมถึงการประชุมผู้สูงอายุด้วย ซึ่งเมื่อช่วงหลังมานี้มีการอบรมยกระดับเพื่อให้ อสม. เป็นหมอประจำบ้าน หรือ เรียกว่า หมดคนที่ 1 เป็นการอบรมหมู่ละ 2 คน เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงในหมู่บ้านของตนเอง อาทิ วัดความดัน จ่ายยา ทั้งนี้ถือว่าเป็นงานที่หนัก อสม. ต้องรับผิดชอบ ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้มีโรคระบาดโควิดเข้ามา อสม.ก็ต้องทำงานไม่หยุดเลย แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่ทำงานด้วยจิตอาสาไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ
สุดท้ายนี้เราเห็นด้วยที่จะมีโครงการดีดีแบบนี้มาให้อสม. ที่จะมีการพัฒนาไปสู่การทำงานอีกก้าวหนึ่ง และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชนสามารถดูแลคนในชุมชนได้
"ส่วนถามว่า อสม.ส่วนใหญ่จะอยากลาออกหรือไม่ เมื่อมีโครงกานนี้มา ผมคิดว่าไม่มีผลกระทบ เพราะคัดเลือกตามเกณฑ์เมื่อคนไหนที่เข้าเกณฑ์ตามที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอายุ 16 ถึง 40 ปีนั้น ก็ได้รับเลือกไป ส่วนคนที่ไม่ถึงเกณฑ์ก็จะทำงานจิตอาสาตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป การเป็นอสม.นั้นผมคิดว่าทุกคนมีอยู่ในสายเลือด แล้วทุกวันนี้ก็มีคนสนใจอยากเป็น อสม. มากขึ้น ไม่ค่อยอยากมีคนลาออก" นายจำรัส คำรอด กล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
สบส.ตอบปมบุคลากรสาธารณสุขห่วง อสม. อบรมหลักสูตร "ผู้ช่วยพยาบาล" อาจเป็นเหตุออกจากจิตอาสา
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1810 views