ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมศักดิ์” ลั่นอย่าตกใจ รพ.ขาดทุน ล่าสุดคำนวณเองให้จ่ายผู้ป่วยในลดจากเดิมแค่ 2% เล็กน้อย มั่นใจเกลี่ยเงินพอ คนไม่เข้าใจพูดจนลามปามไปหมด ส่วนประเด็น “ร่วมจ่าย” เลิกคิดไปเลย ยังไม่ต้องถึงขั้นนั้น   “ชินวัตร” ต้องช่วยประชาชนเต็มที่อยู่แล้ว  

 

เมื่อวันที่ 4 กันยายน  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เรื่องการแก้ปัญหางบประมาณบัตรทอง 30 บาท โดยเฉพาะในส่วนการจัดสรรค่ารักษาผู้ป่วยใน จนมีข่าวว่า รพ.ขาดทุน ว่า อย่าตกใจ ในข้อเท็จจริงถ้าเอาตัวเลขมาคำนวณ ไม่ใช่มากมายไม่ถึง 2% อย่างไรก็ตาม  ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแหงชาติ(บอร์ดสปสช.)เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2567 มีระเบียบวาระเรื่องนี้ และได้ให้คิดคำนวณตัวเลข ซึ่งค่ารักษาผู้ป่วยในจะคิดจากแต่ละโรคมีค่ารักษาโดยหน่วยวัดเป็นพอยต์(แต้ม) บางโรคได้ครึ่งพอยต์ บางโรค 1.5 พอยต์  บางโรค 1 พอยต์  เมื่อนำมาคิดเป็นเงินค่าผู้ป่วยใน 8,350 บาทต่อadjRW หรือค่าน้ำหนักสัมพัทธ์

“เดิมสปสช.ก็จ่ายตามนี้ แต่มาคำนวณช่วงหลังเงินไม่พอ จึงมีการลด และกลายเป็นเหตุให้ไปถกเถียงกัน ผมก็ให้คำนวณทั้งหมด และประเมินทั้งปีทั้งจำนวนครั้งที่เกิดขึ้นและงบผู้ป่วยในมีเท่าไหร่ พบว่า มีประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท เมื่อคำนวณจำนวนพอยต์ที่ต้องใช้ทั้งหมดพบว่า 8,196 บาทต่อadjRW ต่ำกว่าราคาประเมินแรกคือ 8,350 บาทต่อadjRW  คิดเป็น 2% เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้นเอง สำหรับการใช้เงินตรงนี้สามารถเกลี่ยขณะนี้ และสปสช.ขอเกลี่ยแล้ว ซึ่งจะไปได้ ไม่มีปัญหา และทุกปีก็เป็นแบบนี้ แต่ไม่ได้พูดให้ตกอกตกใจ จนลามปามเป็นเรื่องอื่น” นายสมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่างบประมาณผู้ป่วยในถือว่ายังเพียงพอหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  อาจจะเหลื่อมล้ำนิดหน่อย คงเกลี่ยได้ ถ้าคิดคณิตศาสตร์ทั้งหมดแล้วไม่น่าห่วง ตนดูเอง

ประชุมหาทางออกค่ารักษาผู้ป่วยในต่ำกว่าต้นทุน

ถามถึงกรณีรพ.มีการสะท้อนว่าการกำหนดกรอบค่ารักษาผู้ป่วยในที่ 8,350 บาทต่อadjRW ต่ำกว่าต้นทุนจริงของรพ.อยู่แล้ว นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ถ้าต่ำกว่าต้นทุนจริงจะต้องประชุมกัน ซึ่งขณะนี้มีอนุกรรมการต่างๆในบอร์ดสปสช. จะต้องช่วยกันศึกษาว่าอัตราที่กำหนดถูก ผิดอย่างไร ก็ของบประมาณเพิ่ม ไม่ใช่เป็นปัญหายุ่งยากอะไร  ไม่ได้มากจนเกินไป

“ในส่วนของการเคลียร์ปัญหาเงินที่มีการพูดเรื่องเงินบำรุงต่างๆ ก็จะเคลียร์กันให้หมด  ส่วนการกำหนดกรอบอัตราค่าป่วยในจะเพิ่มได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอนุกรรมการฯที่ทำงาน ซึ่งผมเป็นประธานบอร์ดสปสช.ก็จะรับฟังจากอนุฯแล้วผมจะนำตัวเลขมาวินิจฉัย”นายสมศักดิ์กล่าว 

เมื่อถามว่างบฯกลางที่ขอมาดำเนินการจะเพียงพอในการเกลี่ยค่ารักษาผู้ป่วยในของปีงบฯนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  พอ มั่นใจเพราะหายไปนิดเดียว ราว 2 % น้อยมาก มูลค่าการใช้ของผู้ป่วยในประมาณ  72,000-73,000 ล้านบาท 

เลิกคิดเรื่อง "ร่วมจ่าย" 

ถามอีกว่าจะดำเนินการเรื่องบัตรทอง 30บาทแบบไม่มีร่วมจ่าย และบริหารจัดการเงินถ้าไม่พอก็ใช้งบฯกลางมาแก้ไขปัญหา นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นแนวนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขอให้สบายใจได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30บาทร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินสิทธิประโยชน์ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ร่วมจ่ายอย่าเพิ่งพูดถึงตอนนี้ เป็นเรื่องใหม่เกินไป จะเป็นการเปลี่ยนนโยบายอย่างรุนแรง คิดว่าจะเอามาพูดเล่นไม่ได้

ถามต่อว่าถ้าไม่ใช่ยุคที่ตระกูลชินวัตรเป็นผู้นำรัฐบาล ก็ไม่น่าจะมียุคไหนที่จะกล้าตัดสินใจเรื่องนโยบายนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ชินวัตรต้องช่วยประชาชนเต็มที่อยู่แล้ว จะมาบอกว่าให้ร่วมจ่ายคงไม่คิด

เมื่อถามย้ำว่า ไม่ต้องร่วมจ่ายใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น เล็กน้อย ไม่ถึง 2% สำหรับผู้ป่วยใน เลิกคิดไปได้เลย

เมื่อถามอีกว่าควรมองภาพการเงินการคลังของผู้ให้บริการอย่างรพ.ด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  คิดว่าถ้ามองแล้วจับตัวเลขเอามาคุยในตัวเลขลึกๆแล้วไม่น่าห่วง คนอื่นพูดไปโดยที่นั่งเทียนพูด ขณะที่ตนนำตัวเลขมาคิดเอง

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าปัญหาของปีนี้อาจจะของบฯกลางมาเกลี่ยได้ แล้วการแก้ปัญหาในปีต่อๆไปจะดำเนินการอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ก็ต้องปรับ ถ้ารู้ตัวตนของเราเองว่ารัฐบาลให้เงินมาจำนวนเท่าไหร่  จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความสุข เขาให้เรามาบริหาร ไม่ใช่ให้มาใช้เงิน  ให้บริหารให้พอกับเงินที่ให้มา ถ้าคิดเช่นนี้การทำงานก็จะต้องอยู่ในส่วนของการคิดทำอะไร ที่จะประหยัดเงินได้ อย่างที่พูดมาตลอดว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ใช้เงิน 1.3 แสนล้านบาท คิดกันบ้างหรือไม่ว่าจะลดการใช้เงินส่วนนี้ได้อย่างไร ถ้าคิดได้เงินก็พอ ถ้าคิดไม่ได้ก็ต้องนำเงินมาใส่เพิ่มอีก ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร

ถามว่ามีแนวทางเพิ่มเติมที่จะให้รพ.หาเงินได้เองหรือไม่  นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  อย่าเพิ่งไปไกลขนาดนั้น เอาแค่เงินที่ได้รับการจัดสรรจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ใช้ให้พออย่างไร กับความต้องการของประชาชน ถ้าไม่พอก็ไม่พอ แต่คิดว่าตอนนี้ยังไปได้อยู่พอ