ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สระบุรี ขาดทุนเป็นหนี้ค่ายา หวังได้เงินจากกองทุนผู้ป่วยในช่วยแก้ปัญหา แต่กลับถูกสปสช.จ่ายลดลง ไม่สอดคล้องตามการให้บริการรักษาจริง!  ล่าสุดรอติดตาม เงินจากสปสช. เตรียมจ่าย ส.ค.นี้กว่า 1.5 พันล้านจะเข้ารพ.แต่ละแห่งเท่าไหร่   

 

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี กล่าวถึงปัญหาโรงพยาบาล(รพ.) ขาดสภาพคล่อง ว่า รพ.สระบุรี ขาดสภาพคล่องมานานแล้ว แต่ปัญหาคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จ่ายเงินให้รพ.ไม่เหมาะสมกับการบริการ  โดยเฉพาะกองทุนผู้ป่วยใน ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดสำหรับโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) แต่กลับจ่ายไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากกองทุนผู้ป่วยในจะจ่ายตามค่า DRG หรือ Diagnostic Related Groups เป็นระบบการวินิจฉัยโรคร่วม  โดยมีอัตราจ่ายเดิมอยู่ที่ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักสัมพัทธ์ หรือ adjRW แต่กลับจ่ายต่ำลงเรื่อยๆ เหลือ 7 พันบาทบ้าง บางแห่งได้ 5-6 พันบาท อย่าง รพ.สระบุรี ได้ประมาณกว่า 5 พันบาทต่อค่า adjRW ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

พญ.จิรวรรณ กล่าวอีกว่า การจ่ายดังกล่าวอย่างโรคหายากก็จะให้แต้มเยอะ โรคง่ายก็จะให้แต้มน้อย แต่กลายเป็นว่าจัดสรรน้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งโรคที่ค่าใช้จ่ายสูงยิ่งขาดทุน ไม่สอดคล้องกับต้นทุนของเรา ซึ่งจริงๆ รพ.รัฐไม่ได้คิดกำไรเลย รพ.คิดตามอัตราตามกรมบัญชีกลาง  ซึ่งไม่ได้มากมาย  ขณะที่ค่าใช้จ่าย รพ.มีมาก อย่างเงินบำรุงที่มีก็ต้องเอามาใช้จ่ายหลายอย่าง ทั้งการซื้อยา ซื้ออุปกรณ์ จ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่  ซึ่งรพ.มีข้าราชการเพียง 50% นอกนั้นเป็นลูกจ้างรายเดือน รายวัน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ใช้เงินบำรุงจ่ายทั้งหมด ยังไม่รวมต้องจ่ายค่าโอที อีก ซึ่งรพศ. บางแห่งจ่ายค่าโอที 25-35 ล้านบาท  ยังไม่รวมคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์ ทุกปีได้งบประมาณ แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้มีเงินเยอะ ทางรพ.ก็ใช้เงินบำรุงซื้อ อย่างรพ.ใหญ่ๆ 60-80 ล้านบาทก็มี   และหากมีแพทย์เชี่ยวชาญที่เป็นอนุสาขา เช่น อายุรกรรมหัวใจ อายุรกรรมทางเดินอาหาร เมื่อมาก็ต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือในการรักษาคนไข้ด้วย

เมื่อถามว่า ปัจจุบันรพ.สระบุรี ขาดทุนในระดับใด พญ.จิรวรรณ กล่าวว่า หากมองตามตัวชี้วัดทางบัญชี รพ.สระบุรีถือว่าตกแน่นอนในแง่การชำระหนี้ให้ตรงเวลา 90 วัน เพราะตอนนี้หมุนเงินไม่ทัน อย่างหากนับ รพศ.มีหนี้ 35 แห่ง ในส่วน รพ.สระบุรีอยู่อันดับ 33 ที่มีหนี้เยอะ

“สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ตั้งแต่มาเป็นผู้อำนวยการรพ.สระบุรี ได้ประมาณ 1 ปีนั้น ได้มาดูการเก็บรายได้ให้ครบถ้วนให้ได้ทุกเม็ด พอทำได้ก็จะช่วยได้ แต่กลายเป็นว่า เงินกองทุนผู้ป่วยในกลับถูกจ่ายมาน้อยลงกว่าเดิม ไม่เป็นไปตามเดิม  จากที่คาดหวังว่าถ้าได้ทุกเม็ดจะจ่ายหนี้ได้ กลายเป็นกองทุนผู้ป่วยในจ่ายให้เราน้อยลง อย่างราคาชาร์ทของรพ. หรือต้นทุนบวกกำไรเล็กน้อยเพียง 10% อยู่ที่ 2.2 แสนบาท แต่กลับได้จัดสรรเพียง 5 หมื่นบาท ย่อมกระทบต่อสภาพทางการเงินการคลังของรพ.แน่นอน” พญ.จิรวรรณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าล่าสุด สปสช.เตรียมจัดสรรงบประมาณ 1,514 ล้านบาท จ่ายชดเชย “ค่าบริการผู้ป่วยใน” ให้รพ.ต่างๆภายใน ส.ค.นี้ น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินได้หรือไม่ พญ.จิรวรรณ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ เพราะตัวเลข 1,514 ล้านบาท หากกระจายตามรพ.ต่างๆ ไม่ได้มาก และไม่รู้ว่าการจ่ายเงินยังคิดอัตราเดิมคือ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักสัมพัทธ์ หรือ adjRW หรือไม่ หรือคิดอัตราน้อยลงที่ 7 พัน หรือ 6 พันบาท ตรงนี้ก็ต้องมาดูรายละเอียด

เมื่อถามกรณีจะของบกลาง 7.1 พันล้านบาทโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่จะช่ววยบรรเทาปัญหารพ.หรือไม่ พญ.จิรวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมาดูว่า เมื่อได้รับงบประมาณมาแล้ว จะจัดสรรอย่างไร เพราะงบโครงการ  30 บาทรักษาทุกที่ จะมีในส่วนของนวัตกรรมต่างๆ อย่างร้านยา คลินิกต่างๆ อีก

ถามอีกว่าสปสช.จ่ายตามกติกาด้วยการจ่ายที่เรียกว่า จ่ายปลายปิด คือ มีงบกันไว้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น ต้องปรับเปลี่บยนหรือไม่ ผอ.รพ.สระบุรี กล่าวว่า จริงๆการจ่ายปลายปิดสามารถทำได้ แต่ต้องหางบประมาณให้เหมาะสมด้วย