ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดประสบการณ์ของ "หมอพัชรพร" แพทย์ที่เคยลาออกในช่วงอินเทิร์น 3 พบมรสุมทั้ง ภาระงาน-ค่าตอบแทน-ระบบส่งต่อ-สิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการพักผ่อน กำลังใจ การใช้ชีวิตยังไม่เต็มที่  เชื่อหากสธ.แก้ปัญหาตรงนี้ได้อาจจะทำให้แพทย์อยากอยู่ในระบบมากขึ้น

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  พญ.พัชรพร ห่วงภักดี แพทย์ที่เคยลาออก ปัจจุบันเป็นแพทย์อินเทร์น 4  ได้เปิดเผยกับ Hfocus ถึงสาเหตุที่หมอลาออกกันเยอะ โดยระบุว่า เคยมีประสบการณ์ลาออก โดยก่อนหน้านี้ในช่วงแพทย์อินเทิร์น 3 ได้ลาออกจากข้าราชการเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งสาเหตุที่ลาออกในตอนนั้นเกิดจากภาระที่ค่อนข้างหนักมากเกินไปทำให้การพักผ่อนหรือการใช้ชีวิตยังไม่ได้มีมากเท่าที่ควร เพราะในตอนนั้นมีแพทย์อินเทิร์นแค่ 4 คนซึ่งน้อยมาก

"ขณะที่ทำงานต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมง โดยคนไข้มีจำนวนเยอะมาก ทั้งต่างชาติ และคนไข้เกิดอุบัติเหตุค่อนข้างเยอะ ทำให้ภาระงานกับกำลังคนไม่ได้สัมพันธ์กัน อย่างเช่น ถ้าเราป่วย เพียงคนใดคนหนึ่งก็จะทำให้เพื่อนที่เหลือลำบาก ซึ่งความจริงแม้เรามีอาการป่วยเล็กน้อยจำเป็นต้องพักผ่อนได้แต่ก็ทำให้ต้องฝืนทำงานต่อ และอีกเหตุผลคือ เรื่องระบบการส่งต่อ ซึ่งเมื่ออยู่เวรในแต่ละครั้งไม่ได้ดูคนไข้เพียงแค่เคสเดียว เราต้องดูจำนวนเคสปริมาณที่มาก ถ้าเคสนั้นจำเป็นต้องส่งต่ออาจใช้เวลาส่งต่อนาน รวมถึงการติดต่อกับโรงพยาบาลส่งต่อนั้น อาจจะเจอต้นทางปฏิเสธหรือการพูดจาที่ไม่น่ารักเท่าไหร่ เป็นเหตุทำให้อารมณ์ในการทำงานหรือกำลังใจในการทำงานลดลง " พญ.พัชรพร กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้จะกำลังใจลดลงเราก็ต้องพยายามทำจิตใจให้เข้มแข็งเพื่อที่จะดูแลคนไข้ในเคสต่อไป ดังนั้น เมื่อเจอเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำๆ การส่งต่อที่ยากซ้ำๆ การติดต่อที่เป็นไปด้วยความยุ่งยากซ้ำๆ จึงปทำให้เหนื่อยกับการทำงาน และต้องกลับมาจัดการกับเคสที่เหลือให้สำเร็จด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ตัดสินใจลาออกในตอนนั้น

กระทรวงสาธารณสุขจะแก้ปัญหาหมอลาออก อย่างไร ?

พญ.พัชรพร  เผยว่า สิ่งที่จะทำให้แพทย์หรือหมออินเทิร์นอยู่ในระบบได้นาน คือ 1. ภาระงานต้องเหมาะสมกับค่าตอบแทน เพราะบางโรงพยาบาลภาระงานเยอะ แต่ค่าตอบแทนเมื่อเทียบกับภาระงานคือน้อยมาก ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เพียงพอกับความเหนื่อยที่ต้องเสียไป ถ้าหากไปรับงานที่อื่นอาจจะได้รายได้มากกว่านี้ 2. การมีพี่เลี้ยง ถ้าหากมีการให้คำปรึกษาที่ดี การพูดจาที่ดี หรือการส่งต่อที่ง่ายมากกว่านี้ อาจจะทำให้น้อง Intern อยากจะยังอยู่ในระบบต่อหรืออยากอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนต่อ 3. การรับรายได้ตรงต่อเวลา อย่างเช่น บางโรงพยาบาล เรื่องเงินเวร เงินพตส. เงิน ฉ.11 อาจจะค้างหลายเดือนทำให้การใช้จ่ายของแต่ละคนไม่ได้คล่องมากเท่าไหร่ แต่ถ้าเปรียบเทียบ เมื่อไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนทุกเดือนจะได้ตรงเวลาตามเดือนที่ต้องได้ มองว่าถ้าหากแก้ปัญหาตรงนี้ได้อาจจะทำให้แพทย์อยากอยู่ในระบบมากขึ้น