อีกความคิดเห็นจาก อาจารย์ ม.ขอนแก่น หนุนจ้าง "หมอเกษียณ" เฉพาะสาขาที่ขาด แต่ห่วงการต่ออายุราชการ อาจปิดโอกาสแพทย์รุ่นใหม่ แนะขอความเห็นจากผู้ร่วมงาน ลดความขัดแย้งภายในองค์กร ชี้แนวทางแก้ปัญหาระยะยาว ควรรับแพทย์เข้ามาฝึกรออย่างน้อย 5 ปี ทดแทนแพทย์ใกล้เกษียณอายุ
จากกรณีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) มีคำสั่งให้ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไปในสังกัด สป.สธ. ในตําแหน่งนายแพทย์ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ 3 สาขาวุฒิบัตรความเชี่ยวชาญ ได้แก่ สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว สาขาประสาทศัลยศาสตร์ และสาขาความขาดแคลนตามบริบทของพื้นที่
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สป.สธ. มีคำสั่งให้ข้าราชการเกษียณปฏิบัติงานต่อได้กลุ่มแพทย์ 3 สาขา)
"หมอสมศักดิ์" เห็นด้วย จ้างหมอเกษียณในสาขาที่ขาดแคลน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ถึงกรณีการจ้างให้ข้าราชการเกษียณปฏิบัติงานต่อได้ ว่า การต่ออายุแพทย์ที่เกษียณอายุราชการ 60 ปี หากเป็นแพทย์ในสาขาวิชาที่ใช้ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ ได้รับการตรวจประเมินสุขภาพกายและสมรรถภาพของร่างกาย ความสามารถด้านการจำ แล้วพบว่า แข็งแรงดี มีความยินดีที่จะปฏิบัติงานต่อ ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม ควรมีการจ้างในส่วนนี้ต่อไป
นพ.สมศักดิ์ เพิ่มเติมว่า ถ้าโรงพยาบาลมีงบประมาณและยังขาดแคลนแพทย์ในสาขาดังกล่าว ก็มีความเหมาะสมในการจ้างแพทย์ที่มีประสบการณ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว มาปฏิบัติงานได้ และมองว่า อาจไม่ต้องปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลเดิมก็ได้ กรณีที่แพทย์ย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม และโรงพยาบาลจังหวัดนั้นเกิดขาดแคลนแพทย์สาขาดังกล่าว การจ้างแพทย์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งมีประสบการณ์ และยังมีร่างกายที่แข็งแรง มาทำงาน จะช่วยดูแลรักษาคนไข้ได้เป็นอย่างดี ช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์คนอื่น ที่จะต้องดูแลคนไข้แทนในสาขาที่ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ห่วง! ต่ออายุราชการ อาจปิดโอกาสแพทย์รุ่นใหม่
"แต่การต่ออายุราชการในโรงพยาบาลเดิม และแพทย์สาขานั้นก็มีอยู่แล้ว กรณีนี้ต้องพิจารณาแยกส่วนกัน เพราะการต่ออายุราชการมีผลกับตำแหน่งว่างเพื่อรับแพทย์เข้าไป อาจเป็นการปิดโอกาสของแพทย์รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงาน รวมถึงปิดโอกาสแพทย์ที่จะก้าวขึ้นตำแหน่งผู้บริหารด้วย การต่ออายุราชการอาจจะต้องแยกออกไป แต่หากมีการจัดจ้างเพิ่มเติม ไม่เกี่ยวกับการบริหารใด เป็นงานด้านบริการ หรือการเรียนการสอน ผมคิดว่า มีความเหมาะสม ถ้าโรงพยาบาลนั้นขาดแคลนแพทย์สาขาดังกล่าวจริง"
เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการจ้างแพทย์ที่เกษียณอายุแล้ว นพ.สมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า สิ่งแรกต้องดูว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นขาดแคลน มีแพทย์สาขานั้นไม่เพียงพอต่อภาระงานที่มีอยู่ หากมีแพทย์ที่เกษียณอายุราชการที่มีความสามารถตรงกับตำแหน่งที่ขาดแคลนอยู่ ซึ่งแข็งแรงและทำงานได้ จะช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ที่ทำงานประจำอยู่แล้วได้อย่างชัดเจน โดยต้องผ่านหลักเกณฑ์ทางราชการในการพิจารณาแพทย์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ให้กลับเข้ามาทำงาน นอกจากนี้ แพทย์ที่ทำงานร่วมกันนั้นต้องเห็นชอบ จะได้ทำงานร่วมมือกันได้ ถ้าแพทย์มีแนวคิดคนละทาง ขัดแย้งกัน อาจเกิดปัญหาภายในองค์กรมากกว่าประโยชน์ จึงควรสอบถามผู้ร่วมงานว่าเห็นชอบในการรับแพทย์คนนั้นมาทำงานด้วยหรือไม่
แนะเปิดช่องให้ราชการรับแพทย์ใหม่ฝึกอบรมอย่างน้อย 5 ปี ทดแทน "หมอเกษียณ"
ส่วนการแก้ปัญหาภาระงานในระยะยาว นพ.สมศักดิ์ เสริมว่า การแก้ปัญหาควรมองในระยะยาว ก่อนที่แพทย์จะเกษียณอายุราชการประมาณ 5 ปี หากแพทย์สาขานั้นใกล้จะเกษียณอายุราชการ ควรเตรียมหาแพทย์รุ่นใหม่มาทำงานด้านสาขานี้ ฝึกให้มีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปี จะทดแทนแพทย์ที่เกษียณอายุราชการได้ ต้องมีแนวทางเชิงรุกควบคู่ไปด้วย แต่ที่ผ่านมา รอให้แพทย์ใกล้เกษียณก่อนค่อยรับแพทย์รุ่นใหม่เข้ามา แต่การสร้างแพทย์ 1 คนที่จะทำงานในสาขาหนึ่ง ต้องเตรียมการอย่างน้อย 5 ปี จึงควรเปิดช่องให้ราชการสามารถรับคนเข้ามาก่อน ให้ฝึกอบรม เรียนต่อ หรือดูแลคนไข้ จนมีประสบการณ์มากเพียงพอ จึงจะทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- ข้อเสนอเร่งด่วน ดึง “แพทย์เกษียณ” กลับทำงานลดภาระหมออินเทิร์น - ชง 31 ข้อกู้วิกฤตสาธารณสุขไทย
-สธ.เผย “3 เขตสุขภาพ” หมอขาดแคลน! สั่งกระจายแพทย์คำนึงจำนวนและคุณภาพ
- 9134 views