สธ.เผยภาระงาน “หมออินเทิร์น” ลดลง! จากการสำรวจส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ทำงานนอกเวลาราชการไม่เกิน 40 ชม./สัปดาห์ ส่วนปัญหาบางพื้นที่หมอไม่พอ มอบผู้ตรวจฯ -นพ.สสจ.ปรับเกลี่ยอัตรากำลัง ล่าสุดสั่งการกระจายแพทย์มุ่งเน้นจำนวนและเชิงคุณภาพ อย่างจำนวนให้สอดคล้องประชากร เช่น รพช.มีประชากรน้อยกว่า 3 หมื่นต้องมีหมอ 5-6 คน ส่วนรพ.ที่มีประชากรมากกว่า 3 หมื่นคน สัดส่วนหมอ 8-10 คนขึ้นไป
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาภาระงานแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์ที่จบใหม่ และต้องไปเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลรัฐ ว่า เรื่องของแพทย์อินเทิร์น ปัญหาต่างๆนั้น จากข้อมูลพบว่าปีนี้ปัญหาจะน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) ทุกแห่งให้ความสำคัญในการดูแลแพทย์จบใหม่หรือแพทย์อินเทิร์น ซึ่งตนลงพื้นที่ต่างจังหวัดได้พูดคุยกับน้องๆแพทย์อินเทิร์น ส่วนใหญ่บอกว่ามีความสุขในการทำงาน แต่ก็มีงานหนักอยู่เช่นกัน ซึ่งก็ต้องบอกว่า ทุกคนเสียสละเพื่อประชาชน
“จากการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งให้สำรวจข้อมูลอีกครั้ง โดยภาระงานที่อยู่เวรโอที นอกเวลาราชการตามแพทยสภากำหนดไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์กำหนด เพียงแต่บางช่วงที่หนัก อย่างขาดแพทย์ หมอลาออกกะทันหัน หมอป่วย แต่ไม่ได้เป็นปัญหาทั้งปี เพราะทั้งปีโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ ซึ่งกระทรวงฯกำลังดูว่าจะออกเป็นประกาศช่วยอะไรได้หรือไม่ ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย” ปลัดสธ. กล่าว
สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่า นอกจากบทบาทเป็นแพทย์ พยาบาล ทุกคนของสธ.ยังเป็นข้าราชการ กฎข้อหนึ่งของราชการต้องทุ่มเททำงานให้ประชาชน จึงยังไม่แน่ใจว่าจะออกระเบียบตรงนี้ แต่เราไม่อยากให้เกิดภาระหนักของบุคลากรมากเกินไป เพราะถ้าเป็นมากจะหมดไฟทำงาน ซึ่งพยายามดูอยู่ เพราะภาระงานก็ยังไม่หมดไป ยังมีอยู่
ปีนี้กระจายแพทย์ต้องเน้นจำนวนและเชิงคุณภาพ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมามีการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงฯ สัญจรที่จ.พะเยา มีผอ.รพ. มีนพ.สสจ. มาประชุมร่วมกัน ซึ่งได้สั่งการว่า ปีนี้การกระจายแพทย์ต้องมุ่งเน้นจำนวนและเชิงคุณภาพ โดยเชิงจำนวน เขตที่มีปัญหาบุคลากรการแพทย์ คือ เขตสุขภาพที่ 2 ภาคเหนือตอนกลาง เขตสุขภาพที่ 8 ภาคอีสานตอนบน เขตสุขภาพที่ 10 ภาคอีสานตอนล่าง โดยกระทรวงฯจะแก้ปัญหา 3 เขตให้มีบุคลากรใกล้เคียงกับเขตสุขภาพอื่นๆ แต่เนื่องจากแต่ละเขตก็จะมีจำนวนไม่เท่ากัน จึงให้ผู้ตรวจราชการไปพิจารณาแต่ละเขตของท่าน เนื่องจากการออกกติการวมจะแก้ปัญหาทุกที่ไม่ได้
สัดส่วนแพทย์กับจำนวนประชากร
“แต่ละอำเภอก็มีหมอไม่เท่ากัน แม้จะเป็นรพ.ชุมชนเหมือนกัน อย่างบางรพ.ชุมชน มีศักยภาพก็จะมีหมอมากขึ้น การกระจายในระดับจังหวัด จึงเป็นหน้าที่ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดต้องกระจายให้ครบถ้วน โดยรพ.ชุมชนที่มีประชากรน้อยกว่า 30,000 คน ต้องมีแพทย์อย่างน้อย 5-6 คน รพ.ที่มีมากกว่า 30,000 คนต้องมีแพทย์ตั้งแต่ 8-10 คนขึ้นไป ซึ่งตัวเลขยืดหยุ่นได้ แต่หากมีปัญหาฉุกเฉิน หมอลาออกกะทันหัน ก็เป็นหน้าที่ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเคลื่อนย้ายบุคลากรมาช่วยกันได้ ตรงกับนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล”(One Province One Hospital)” ปลัดสธ.กล่าว
เมื่อถามว่าสาเหตุที่เขตสุขภาพ 3 แห่งบุคลากรมีจำนวนน้อย เป็นเพราะอะไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะสถานภาพทางเศรษฐกิจของเขตนั้นๆค่อนข้างน้อย และอยู่ห่างไกล เดินทางยากลำบาก ซึ่งมีหลายปัจจัย อย่างจังหวัดที่มีโรงเรียนแพทย์ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา ขณะที่จังหวัดเล็กๆ การเดินทางลำบากก็จะมีปัญหา ตรงนี้เราก็พยายามดูอยู่
ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :
- ปลัดสธ.หาทางแก้ปัญหานักศึกษาแพทย์เครียด! ตอบปมแชร์ว่อนห้าม รพ.จ้างหมอเอกชน
- 6290 views