ประธานยูฮอสเน็ต เผย รพ.กลุ่มโรงเรียนแพทย์ขาดทุนราว 1 พันล้าน เหตุสปสช.จ่ายเงินไม่เพียงพอ ตอบสื่อปมถึงเวลาปชช.ต้อง “ร่วมจ่าย” หรือไม่ ขอไม่ใช้คำว่า โคเพย์เมนท์ แต่การ On top ให้สิทธิ์ผู้ป่วยบัตรทองถือเป็นอีกหนทาง  ติงสปสช. ปิดช่องทางทั้งที่กฎหมายไม่ได้ห้าม ชูประกันสังคมยังเปิดทางเลือกให้ผู้ประกันตน   

 

จากกรณี คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) นำโดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ และนพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมรพศ./รพท. พร้อมตัวแทนเครือข่ายจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายเพื่อบริการประชาชน ก่อนการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)  โดยระบุว่า จำนวนเงินที่สปสช.จัดสรรให้หน่วยบริการไม่เพียงพอ และส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของสถานพยาบาล

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่ม Uhosnet ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การจัดสรรงบประมาณของ สปสช.ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ นั้น มีปัญหามานาน แต่เดิมที่กำหนดจ่ายอัตราค่าชดเชยผู้ป่วยในที่ขั้นต่ำจำนวน 8,350 บาท/adjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน: เป็นเกณฑ์การคำนวณจ่ายเงินให้รพ.ของสปสช.)  ซึ่งไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนอย่างของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ หรือ ยูฮอสเน็ต ต้นทุน 25,000-30,000 บาท/adjRW ที่ผ่านมาก็ไม่เพียงพอ แต่ในปี 2567 จะปรับลดอีก เป็นการซ้ำเติม ทำให้รพ.ยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้น

เห็นได้ชัดจากที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2567 พบว่าในปีงบประมาณ2566 และ 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยในมีจำนวนจริงสูงกว่าที่ สปสช.ประมาณการไว้มาก ส่งผลให้งบกองทุนผู้ป่วยในไม่พอ ขาดไป 10,054 ล้านบาท และบอร์ดมีมติให้ปรับลดอัตราค่าชดเชย(BaseRate) ที่จะจ่ายให้รพ.เหลือเพียง 4,531 บาท/adjRW หรือลดลงอัตราร้อยละ 46 จากเดิม 8,350 บาท/adjRW  ทำให้รพ.ขาดทุนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

ไม่อยากใช้คำว่า “ร่วมจ่าย” แต่ปชช.ควรมีสิทธิ์เลือก

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องหางบประมาณช่องทางอื่นมาช่วยรพ.หรือประชาชนต้องมีส่วนร่วมอะไรหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า กลับไปดู พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เขียนชัด โดยบอร์ดสปสช.หยิบตรงนี้ทบทวน เพราะไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่แบกตรงนี้ การให้สิทธิประโยชน์ควรให้ถูกต้อง คนเข้าไม่ถึงต้องดูแล

หมายความว่าถึงเวลาที่ประชาชนต้อง “ร่วมจ่าย” หรือ CO-PAYMENT(โคเพย์เมนท์ ) ใช่หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่อยากใช้คำว่า โคเพย์เมนท์  แต่หลายอย่างละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย ยกตัวอย่าง ปกติเขามีความเป็นมนุษย์เหมือนเรา เวลาเขาเจ็บป่วย เขาสามารถใช้ห้องพิเศษได้ แต่ผู้ป่วยบัตรทองถูกสกัด เพราะกองทุนบอกห้ามจ่ายร่วม เป็นส่วนเกินความต้องการ อย่างคนไปนอนเป็นไส้ติ่งเหมือนกัน คนหนึ่งอยากนอนห้องพิเศษก็น่าจะได้จ่ายส่วนนั้น แต่สปสช.กลับบอกว่าจ่ายไม่ได้

สปสช. ควรเปิดทาง On top  เหมือนประกันสังคม 

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ใช้คำว่าออนท็อป (On top) ได้หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า แล้วแต่จะเรียก On top ก็เป็นคำหนึ่ง แต่ตนกำลังคิดว่า สปสช.ลิดรอนสิทธิ์ผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์30 บาทฯ บางส่วนก็อยากใช้เครื่องมือทันสมัย เพราะบางเครื่องมืออาจไม่ได้อยู่ในกองทุน แต่พวกเขาก็น่าจะมีสิทธิ์ออนท็อปเพิ่มได้ ซึ่งประกันสังคมยังสามารถทำได้ เชื่อว่า คนไข้หลายคนก็พร้อมออนท็อป และเรื่องนี้สปสช.ไม่ต้องแก้กฎหมาย มีอยู่แล้ว อยู่ที่กรรมการ หากไม่ทำ ก็จะกลายเป็นคนไข้บัตรทองเหมือนพลเมืองชั้นสอง

เมื่อถามย้ำว่า หากประชาชนที่พร้อมและยินดีออนท็อป จะเป็นอีกหนทางช่วยลดปัญหารพ.ขาดสภาพคล่องได้ใช่หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะเงินที่เอามาไม่ได้เข้ากระเป๋าใคร รพ.ก็เอาไปใช้พัฒนาคน เพิ่มเครื่องมือดีๆ