ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. ตัวแทนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ยืนยันค้าน "ร่วมจ่าย" ไม่เห็นด้วยจ่ายค่ารักษาสมทบ ควรใช้มาตรฐานแบบเดียวกัน แนะหมอใช้ยาในบัญชียาหลักฯก่อน คัดมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพ 

ค้าน "ร่วมจ่าย" รพ.ควรบริหารในต้นทุนที่มีอยู่

จากกรณีคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ยื่นหนังสือ เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายเพื่อบริการประชาชน ให้ผู้ป่วยบัตรทองสามารถจ่ายเพิ่มการรับบริการได้นั้น    

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วน ผู้แทนองค์กรเอกชน (ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ยืนยันชัดเจนว่า ไม่ควรมีการร่วมจ่ายเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนด ตอนนี้กำหนดไว้เพียงค่าธรรมเนียม 30 บาท ไม่มีการร่วมจ่ายในระหว่างหรือใช้บริการเกินกว่านี้ ควรปรับเปลี่ยนวิธีคิดไม่ใช่คิดแต่เรื่องกำไร ขาดทุน เพราะหน่วยบริการทุกระดับที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ ถ้าเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีงบประมาณสนับสนุน เช่น ค่าเสื่อม ค่าอาคาร และเงินเดือนบุคลากร หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลก็มีเงินสนับสนุนอยู่แล้ว จีงไม่ควรมีนโยบายในการหากำไรในการให้บริการ เพราะบริการสาธารณสุขเป็นบริการพื้นฐาน เป็นรัฐสวัสดิการที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนแพทย์ ก็มีงบประมาณจำนวนหนึ่งสนับสนุนอยู่แล้ว ก็ไม่ควรคิดเรื่องกำไรขาดทุน แต่สิ่งที่ต้องกลับมาคิด คือ การบริหารโรงพยาบาลในต้นทุนที่มีอยู่ได้อย่างไร 

"ผมคิดว่าเป็นความท้าทายของ ผู้บริหารยูฮอสเน็ต (Uhosnet) ทั้งหมด การรักษาโรคเดียวกันต้นทุนของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย กับโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ต่างกันลิบลับ แล้วเรียกร้องว่า ต้นทุนเยอะต้องได้เงินแพงกว่า ถ้าคิดประมาณแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นความไม่รับผิดชอบต่อการบริหารกิจการสาธารณะ ที่เป็นบริการพื้นฐานที่ต้องจัดให้กับประชาชน" นายนิมิตร์ กล่าว

ชี้เปิดช่องให้ "จ่ายสมทบ" ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

นายนิมิตร์ ย้ำด้วยว่า หากต้องจ่ายค่ารักษาสมทบเพิ่มนั้น ไม่เห็นด้วย ไปแบ่งแยกให้เกิดการเหลื่อมล้ำ ต้องถามว่า การรักษาต้องมีมาตรฐาน คุณภาพการรักษาเดียวกันหรือไม่ เพราะเป็นโรคเดียวกันควรใช้มาตรฐานแบบเดียวกัน ส่วนความต้องการเรื่องบริการ ห้องพิเศษ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"ใจผมก็คิดว่า มีความเหลื่อมล้ำ จึงไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ถ้าต้องการบริการดีขึ้นให้ร่วมจ่าย บริการควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะไปบิดเบี้ยวราคา มีผลต่อค่ารักษา ค่าตัวหมอ โรงพยาบาลเอกชน ก็ต้องจ่ายค่าตัวหมอแพงขึ้น ทำให้สัดส่วน อัตราค่าแรงของหมอบิดพลิ้วไป หมอที่ทำงานอย่างหนักในโรงพยาบาลที่ห่างไกล ได้เงินเดือนตามเกณฑ์ แต่หมอที่ให้บริการในโรงพยาบาลพรีเมียมก็ได้รับเงินที่ต่างกัน หมอที่ไหนจะอยากไปทำงานหนัก ได้เงินอัตราตามราชการ คนก็อยากออกมาหมด เป็นการเอาเปรียบ รัฐเป็นคนจ่ายค่าเรียนของหมอ แต่พอใช้อัตราค่าจ้าง หรือเพิ่มเงินเดือนให้หมอที่รักษาในโรงพยาบาลพรีเมียมก็ไม่ต้องผลิตหมอ ดึงหมอไป ระบบโดยรวมของประเทศก็กระเทือน มีผลกระทบกันหมด ต้องคิดว่า จะทำให้บริการสุขภาพที่เป็นบริการขั้นพื้นฐานของประชาชน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้วยการบริหารจัดการแบบนี้หรือไม่"

ย้ำยาทุกตัวในบัญชียาหลักฯ มีประสิทธิภาพ

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า ยาทุกตัวที่ใช้ในระบบสุขภาพ และยาที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่ระบบจ่าย เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จะบอกว่าเป็นยาราคาถูกหรือไม่มีประสิทธิภาพ จะไปโทษระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้ ต้องดูกลไกการจัดทำบัญชียาหลักฯ ยาแพงไม่ใช่ว่าจะดี แต่ยาทุกตัวที่อยู่ในบัญชียาหลักฯ ผ่านการพิจารณาแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีความสมเหตุสมผลของราคา ยาบางตัวที่ราคาแพง หากไปดูข้อเท็จจริงจะพบว่า ราคายาสูงกว่าตัวอื่นที่มีประสิทธิภาพแบบเดียวกัน 

"ยาที่รักษาโรคเดียวกัน ทุกแบรนด์ที่ขายอยู่ต้องขึ้นทะเบียนยา ถ้าขึ้นทะเบียนยาว่ารักษาโรคเดียวกัน ประสิทธิภาพของยาจะเทียบเท่ากัน ก็จะแข่งกันเรื่องราคา หมอผู้รักษาเวลาสั่งจ่ายยา เบื้องต้นต้องอยู่ในบัญชียาหลักฯ เพื่อให้ครอบคลุม การเสนอยานอกบัญชีควรเป็นหนทางสุดท้ายที่หมอจะทำ และถ้าเลือกจ่ายยานอกบัญชี ก็ต้องถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ เพราะหมอตัดสินใจในการใช้ยาตัวนี้"

หากคิดว่า ยาตัวนี้จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย ต้องเสนอยาเข้ามาในบัญชียาหลักฯ โดยเสนอผ่านมาตามระบบ เพราะทุกคนสามารถเสนอยาเข้ามาให้คณะกรรมการฯพิจารณา ประชาชนก็เสนอได้ ด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อพบว่ามียานอกบัญชีถูกเรียก ก็มีการประชุม ถ้ามีความสำคัญก็เสนอยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นกัน

"หมอมีหน้าที่หายาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตัวปัจจุบันให้ผู้ป่วยก่อน ถ้ายาตัวที่นำเสนอจำเป็นจริง ๆ ไม่มีใครค้าน พวกเราภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องนี้ ก็เสนอยา เช่น ยา HIV ตัวใหม่ที่จำเป็น ประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อย เราก็กระตุ้นให้อยู่ในบัญชียาหลักฯ"

นายนิมิตร์ กล่าวด้วยว่า ความสำคัญของยูฮอสเน็ต เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิ มีการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน การคิดยูนิตคอสที่เหมาะสมนั้นต้องช่วยเหลือกันหาช่องทางที่ยูฮอสเน็ต ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม แต่ไม่มากเกินกว่าที่ระบบจะจ่ายได้ ยูฮอสเน็ตจึงต้องดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้สามารถดูแลผู้ป่วยในโรคที่ซับซ้อนได้ ประชาชนต้องเข้าใจในระบบมากขึ้นว่า การไปแออัดที่โรงพยาบาลใหญ่ โดยโรคที่เป็นอยู่อาจไม่จำเป็นต้องไปรักษาที่นี่ ต้องค่อย ๆ เปลี่ยนค่านิยม ให้ดูแลรักษาในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ เพื่อให้มีเตียงว่างสำหรับโรคที่จำเป็นจริง ๆ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อทำให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ดีขึ้น ทุกฝ่ายก็จะได้รับค่าตอบแทนในการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ถึงเวลาร่วมจ่ายหรือยัง? “หมอสุรศักดิ์” ติงสปสช.ปิดทางบัตรทองจ่าย On top ทั้งที่กฎหมายไม่ห้าม (คลิป)