สปสช.ลงพื้นที่ รพ.ศรีนครินทร์ สร้างความมั่นใจ 30 บาทรักษาทุกที่ หวังให้ ปชช.ใช้บริการปฐมภูมิก่อน เตรียมของบฯเพิ่มอีก 7,100 ล้านบาท ชดเชยในส่วนต่าง "หมอสมศักดิ์" ห่วง รพ. โรงเรียนแพทย์แออัดขึ้น ชี้โครงการมะเร็งรักษาได้ทุกที่ ผู้ป่วยเข้ารักษาพุ่ง 400% แนะให้ร่วมจ่ายค่ายา ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม แนะทุกสิทธิการรักษาปรับบัญชีค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุม

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย  ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 7 และดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ประชุมความร่วมมือทิศทางการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพ ระหว่าง คณะผู้บริหารโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์  ผศ.คัชรินทร์  ภูนิคม รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ ผศ.อาทิตย์ บุญรอด รองผอ. ฝ่ายประกันสุขภาพ ผศ.อธิบดี มีสิงห์ รองผอ. ฝ่ายคุณภาพและบริหารความเสี่ยง  รพ. โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับฟังทิศทางการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพ 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่ได้ให้ข้อเสนอแนะปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อความกังวลถ้ามีการประกาศใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่จะทำให้โรงพยาบาลระดับตติยภูมิมีความแออัด เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยหารือกันว่ามีมาตรการในการดำเนินการ  

ย้ำ! 30 บาทรักษาทุกที่ ต้องช่วยลดแออัด รพ. ขนาดใหญ่

"ต้องย้ำว่า 30 บาทรักษาทุกที่ไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารับบริการที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ให้มีจำนวนมากขึ้น ตรงกันข้ามต้องลดลง ลดความแออัดลง ด้วยการเพิ่มหน่วยบริการระดับปฐมภูมิมากขึ้น หน่วยบริการใกล้บ้าน สร้างความศรัทธาให้กับประชาชน สปสช.ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด ด้วยการเพิ่มหน่วยนวัตกรรมใกล้บ้านให้มากขึ้นด้วย จากการพูดคุยก็ได้รับคำแนะนำว่าต้องดูเรื่องงบประมาณด้วย แต่รายละเอียดต้องมาคุยกันอีกครั้ง" นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ส่วนเรื่องยาต่าง ๆ ก็มีความสำคัญ ต้องยอมรับว่า โรงเรียนแพทย์ มีการใช้ยาโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องมีการพูดคุยว่า ถ้าเราประสงค์ให้ประชาชนร่วมจ่าย รัฐก็ต้องจ่ายเมื่อจำเป็น อะไรที่จำเป็น เหมาะสม สำคัญ สปสช.จะรับประเด็นไป 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนที่มีการแนะนำในเรื่องยาต่าง ๆ ที่อยู่นอกบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องมีการมาพูดคุยกันว่า ถ้าเราไม่มีความประสงค์ที่จะให้พี่น้องประชาชนร่วมจ่าย รัฐก็ต้องจ่าย ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ รัฐก็จะดูแลทำอย่างไรให้ยาเข้าสู่ระบบมากขึ้น ส่วนช่วงรอยต่อที่ยายังไม่เข้าระบบแต่มีความจำเป็นต้องจ่ายยาให้กับผู้ป่วย รัฐจะต้องเข้าไปช่วยดู กรณีโรคเรื้อรัง ถ้ามันจะไม่จำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่  จะได้มีการมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง

"ยาบางตัวที่ใช้อยู่ ช่วงรอยต่อ เมื่อยายังไม่เข้าระบบ แต่จำเป็นต้องใช้ ก็ต้องลงไปช่วยดู ถ้าจำเป็นก็ต้องให้"

เลขาธิการสปสช. เพิ่มเติมว่า ต้องหามาตรการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า การรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ แต่คงต้องมาดูเรื่องยาบางตัว หากโรงพยาบาลใกล้บ้านไม่มี ก็คงต้องมาดูและต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง   

"จากการพูดคุยแนวคิดตรงกันว่า โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ ให้ใช้ทรัพยากรดูแลคนป่วยหนักให้ได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าไม่ได้ป่วยหนักก็ส่งกลับ ตรงนี้เห็นตรงกัน ผู้ป่วยกลุ่มไหนที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาล จะประสานกับผู้ป่วยให้ไปยังสถานพยาบาลใกล้บ้านก่อน"

ในอนาคตอาจจะต้องสื่อสารกับผู้ป่วยว่า โรคที่ไม่หนักหรือไม่จำเป็นที่จะต้องมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ สามารถรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านได้หรือในระดับปฐมภูมิ ส่วนที่เคยรับบริการแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้แต่คนที่กำลังจะเข้ามา คงต้องดูอีกครั้ง

"โรงเรียนแพทย์ทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่รับผู้ป่วย แต่ทุกคนกังวลว่าถ้าประกาศนโยบายออกไป แล้วมีผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยหนักเข้ารักษาโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจจะรับไม่ไหว จะทำให้คนที่ป่วยหนักไม่ได้รับบริการอย่างเต็มที่" นพ.จเด็จกล่าวและว่า  แม้แต่โรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 400% รพ.ศรีนครินทร์ก็ยังดูแล ค่อนข้างเป็นภาระที่หนักมาก ต้องช่วยให้เบาลง คงต้องเข้ามาช่วยดูแลว่าจะทำอย่างไร 

หากเปิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ แล้ว รพ.แน่นมาก สปสช.อาจต้องส่งทีมลงมาช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน เป็นไปได้ไหมที่จะไปจุดอื่น หรือมีรถพยาบาลไปส่งให้ ที่กังวลว่าจะมีคนแห่มาลงทะเบียน ก็ให้ความมั่นใจว่าไม่เป็นแบบนั้นแน่ เพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้คนมาลงทะเบียนไกลบ้าน ยังให้ลงทะเบียนเหมือนเดิม แต่ประชาชนจะศรัทธา รพ. หากโรคยังไม่จำเป็นต้องมารักษาก็ให้รักษาใกล้บ้านไปก่อน กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ไปร้านยา คลินิกใกล้บ้านก่อน คลินิกชุมชนอบอุ่นก่อน ตรงนี้เป็นมาตรการเบื้องต้น

"ส่วนเรื่องงบประมาณ ขอให้มั่นใจว่าขณะนี้เราอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2567 ขออีก 7,100 ล้านบาท ส่วนงบฯเดิมที่ขอไว้ยังไม่มา แต่คาดว่า อีกไม่เกิน 2 เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ ขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้งบประมาณมาชดเชยในส่วนต่าง ๆ ที่เกิดผลจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เช่น คนมาใช้บริการมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามตามที่ขอไปก่อนหน้านี้แล้ว หากงบฯมาจะเร่งดำเนินการกระจายไปทันที ดูว่าจะต้องเติมจุดไหน ตอนนี้กำลังดูเรื่องยอดต่าง ๆ อยู่" นพ.จเด็จกล่าว

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การที่ สปสช.ลงมาหารือ แลกเปลี่ยนครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนได้เลือกเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ แต่ยังมีความกังวลคนที่จะมีประชาชนเลือกเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นระดับตติยภูมิหรือโรคที่รักษายาก 

หากเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ อยากแนะนำว่า ควรรักษาโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หากเป็นโรคที่รักษาแล้วไม่หายหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาในเบื้องต้น เกินศักยภาพก็สามารถส่งต่อได้ หากผู้ป่วยไม่หนักหรือรักษาทั่วไปอยากให้รักษาใกล้บ้านใกล้ใจตามระบบ ซึ่งเป็นการรักษาอย่างเหมาะสมไม่ก่อให้เกิด ความแออัดในโรงเรียนแพทย์ได้ 

ปัจจุบัน รพ.ศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ของมหาลัยขอนแก่น รับผู้ป่วยนอก 4,000 คนต่อวัน มีแพทย์ที่มีศักยภาพรักษาได้เพียงพอ สำหรับโครงการรักษามะเร็งได้ทุกที่ (Cancer Anywhere) มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 6,000 ราย เป็น 25,000 ราย ก็ดูแลอย่างเต็มที่ 

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อยากให้ยกระดับคุณภาพ โรงพยาบาลของจังหวัดต่าง ๆ ในการรักษาทุกชนิดของมะเร็ง ให้ประชาชนรักษาได้ใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลมีศักยภาพใกล้เคียงกับโรงเรียนแพทย์ ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล ลดค่าใช้จ่าย ส่วนเรื่องขาดทุนไม่ได้เป็นเป้าหมายหลัก การบริหารโรงพยาบาลหรือการดูแลผู้ป่วย เป้าหมายหลักคือการทำให้ผู้ป่วยหายจากโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดี

"เรื่องขาดทุน ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของโรงพยาบาล หรือการรักษา รพ.อยากให้ผู้ป่วยหายจากโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การรักษาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยา เครื่องมือแพทย์ การใช้เทคโนโลยี และแนวทางการรักษาทางการแพทย์ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โรงพยาบาลให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่บางอย่างอยู่นอกเหนือสิทธิการเบิกจ่าย เช่น สิทธิข้าราชการ กรมบัญชีกลาง สิทธิการเบิกจ่ายประกันสังคม และบัตรทอง จึงอยากให้ทุกสิทธิปรับบัญชีค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้ครอบคลุมวิธีการรักษา การเบิกจ่ายต่าง ๆ ทันกับค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลลงทุนไป แต่ขอย้ำว่า ทุกที่ โดยเฉพาะ รพ.ศรีนครินทร์ ไม่ได้มองเรื่องการขาดทุนเป็นปัญหาหลัก หน้าที่เราต้องรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด"

การร่วมจ่ายทำได้สองวิธี 

1.การร่วมจ่ายก่อนเข้าการรักษาพยาบาล หมายความว่า คนที่เสียภาษีอาจมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลไว้เบื้องต้น เช่น เสียภาษีปีละเท่านี้ คล้ายกับการบริจาคให้นักการเมือง คือ การบริจาคไว้เป็นจำนวนเท่านี้ ก่อนรักษา

2.ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ หาก รพ.สามารถอธิบายให้ผู้ป่วยฟังได้ว่า ต้องมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม จากค่ารักษาพื้นฐาน หรือค่ายาที่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักหรือยาตามที่ สปสช.กำหนด ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่เหมาะสมที่สุด หาก สปสช. อนุญาตให้อธิบายผู้ป่วยว่ามีความจำเป็น

ในส่วนนี้ต้องยอมรับความเป็นจริง เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ชัดเจนว่าการดูแลสุขภาพนอกจากรัฐ ดูแลให้สุขภาพของทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกคน ทุกครอบครัวก็ต้องมีส่วนร่วม รับผิดชอบสุขภาพของตัวเองด้วย ขอย้ำว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันดูแลและรับผิดชอบ แต่ถ้าไม่สามารถร่วมจ่ายได้ และเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นจริง ๆ รพ. ก็พร้อมดูแลด้วยการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย ไม่ต้องกังวลว่า มาโรงพยาบาลแล้วไม่มีเงินจ่าย จะไม่ได้รับการรักษา เพียงแต่ผู้ที่พร้อมที่จะร่วมก็แค่เพิ่มเติมขึ้นมา

"ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ สปสช.กับโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ มีเป้าหมายเดียวกัน ให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ต่างคนต่างทำหน้าที่ วันนี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการยกระดับการรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองให้มีคุณภาพมากขึ้น แต่ยังอยากย้ำว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่ต้องดูแล ร่วมรับผิดชอบกัน ส่งเสริมสุขภาพตนเอง ป้องกันโรค ต้องเริ่มสร้างความเข้าใจว่า สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว