คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผสานความร่วมมือ ปั้น 2 หลักสูตร "หมอไฮบริด" ผลิตแพทย์ด้านการจัดการความคุ้มค่า และแพทย์ผู้สร้างนวัตกรรม คาดผลิตได้หลักสูตรละ 20 คนต่อปี หวังเป็นกำลังหลักวงการแพทย์ในอนาคต
โลกในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททางการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น ทำให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งงบประมาณในการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดทำ 2 หลักสูตร "แพทย์ไฮบริด" เพื่อตอบโจทย์การแพทย์ในอนาคต
ศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดหลักสูตรที่เป็นการผสมผสานระหว่างวิชาชีพหรือแพทย์ไฮบริด ซึ่งมีด้วยกัน 2 หลักสูตร
1. โครงการร่วม 2 หลักสูตร พ.บ. – กจ.ม. (การจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ)) เรียนทั้งหมด 7 ปี เมื่อเรียนจบหลักสูตรจะได้รับปริญญา 2 ใบ ได้แก่ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาการจัดการมหาบัณฑิต โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (นานาชาติ) มุ่งเน้นในการผลิตแพทย์ที่มีความสามารถด้านการจัดการ ซึ่งจะเรียนหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และเรียนที่วิทยาลัยการจัดการหลักสูตรนานาชาติ
"การบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ งบประมาณที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุขในประเทศไทย ในแต่ละปีเกินกว่า 9 แสนล้านบาท ถ้าไม่มีการจัดการให้คุ้มค่า หรือแนวทางในการจัดการให้เป็นประโยชน์สูงสุด ก็จะเป็นปัญหาในอนาคตได้ เพราะงบฯในอนาคตจะยิ่งสูงกว่านี้ ยิ่งเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของความคุ้มค่า การเข้าถึง และพัฒนาเรื่องของการบริการให้คุ้มค่ามากที่สุด"
2.โครงการร่วม 2 หลักสูตร พ.บ. – วศ.ม. (วิศวกรรมชีวการแพทย์) เรียนทั้งหมด 7 ปี เมื่อเรียนจบหลักสูตรจะได้รับปริญญา 2 ใบ ได้แก่ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อมุ่งเน้นด้านชีวการแพทย์ โดยผลิตแพทย์ที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมในการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือโปรแกรมไอที AI ที่ช่วยให้การแพทย์มีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์
"แพทย์นอกจากเป็นผู้ใช้นวัตกรรมแล้ว ยังสามารถสร้างด้วยตนเองได้ ตอบโจทย์ได้มากกว่า เนื่องจากรู้ปัญหาด้านการแพทย์ เกี่ยวกับผู้ป่วยได้ดี"
ศ.ดร.พญ.อติพร กล่าวด้วยว่า บัณฑิตแพทย์ที่จบหลักสูตรไฮบริด สามารถช่วยเรื่อง Digital Health ของประเทศไทย โดยหลักสูตรที่ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำ รวดเร็ว ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่แพทย์สามารถทำงานร่วมกับ AI หรือใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ แต่หลักสูตรนี้จะทำให้แพทย์สามารถสร้างนวัตกรรมให้โรงพยาบาล ช่วยในการให้บริการ เช่น การขนส่งผู้ป่วย กระบวนการรักษาด้วยหุ่นยนต์ หรือกระบวนการฟื้นฟูด้วยโปรแกรมต่าง ๆ ช่วยในการเข้าถึงของคนไข้ จึงเป็นการผลิตนักศึกษาแพทย์ที่มีความสามารถสำหรับโลกอนาคต
ด้านหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต จะมุ่งเน้นให้สามารถวิเคราะห์ความคุ้มค่ามากที่สุด ความเหมาะสมในการนำมาใช้เพราะ Digital Health หมายถึงการเข้าถึงและความคุ้มค่าด้วย ถ้าจะประเมินโครงการต่าง ๆ คุ้มค่าหรือไม่ในการนำมาลงทุน หรือนำมาใช้ ผู้ที่เรียบจบหลักสูตรนี้จะเป็นผู้วิเคราะห์ความคุ้มค่า เพื่อประโยชน์สูงสุด
"ทั้ง 2 หลักสูตร คาดว่าแต่ละปีจะผลิตแพทย์ได้หลักสูตรละ 20 คน เชื่อว่าจะเป็นกำลังหลักในวงการแพทย์และวงการสาธารณสุขในประเทศไทย ซึ่งหมอที่จบหลักสูตรไฮบริด จะสร้างนวัตกรรมช่วยลดต้นทุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายในการรักษาลดลงในอนาคต เพื่อให้การเข้าถึงการบริการดีขึ้น"
ศ.ดร.พญ.อติพร กล่าวด้วยว่า การจะเป็น Digital Health หรือ Digital Hospital ได้ ต้องมีบุคลากรที่เข้าใจเรื่องของเทคโนโลยี หรือระบบไอทีของโรงพยาบาลด้วย นอกจาก 2 หลักสูตรที่กล่าวมา ยังมีหลักสูตร Data Science ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญด้านระบบไอที เข้าใจลึกซึ้งในศาสตร์ทางการแพทย์ เพื่อนำข้อมูลไปประมวลหรือวิเคราะห์ วิจัย ในการตอบโจทย์ปัญหาของโรงพยาบาล สู่การวินิจฉัยที่แม่นยำ วิเคราะห์การรักษาเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
"ปัจจุบันแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ภาระงานเยอะ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยจะลดภาระงานเอกสาร เพิ่มงานในการดูแลคนไข้มากขึ้น จึงเป็นจุดประสงค์หลักของ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะมุ่งต่อไป" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ทิ้งท้าย
- 15946 views