รมว.สธ. แจงยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดได้น้อยลง อยู่ในช่วงปรับตัว เพราะผู้ค้ารู้ทันรัฐบาล ชี้ยึดรายใหญ่ไม่ได้ก็ยึดรายเล็กก่อน ชูร่าง พ.ร.บ.อสม. แจ้งเบาะแสได้ให้เงินเข้ากองทุน ย้ำ! กทม.มีทั้งหมด 749 เตียง ทั่วประเทศมี 9,931 เตียง บำบัดผู้ติดยาเสพติดได้เต็มที่ เผยปรับแก้การทำงาน "กรมสุขภาพจิตและยาเสพติด" เตรียมเสนอร่างเข้า ครม. พร้อมมีแผนผลิตแพทย์ทั่วไป-จิตเวช รวมแล้วกว่า 3 หมื่นราย
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “วิโรจน์” ซัดรัฐบาลไร้ความชัดเจนแก้ยาเสพติดขาดงบฯ รองรับ)
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงประเด็นเรื่องยาเสพติด ว่า ประเด็นเรื่องของยาเสพติดเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่บูรณาการฟื้นฟูและร่วมกับ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ที่ดำเนินงานร่วมกันอย่างเต็มที่
ประเด็นสำคัญที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องประเด็นการยึดทรัพย์ เรื่องนี้ต้องเรียนว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำชับนโยบายของรัฐบาลว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดจะต้องมีเรื่องของการยึดทรัพย์เป็นประเด็นสำคัญ เพราะถ้าไม่จัดการตั้งแต่ต้นเหตุตั้งแต่แรกแล้วปลายเหตุเป็นยาเสพติด มาขายให้ลูกหลานไทยเสพกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง แล้วเตียงที่ไหนจะพอหรือดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างดี เพราะฉะนั้น ในแนวทางที่ได้อภิปรายเรื่องการยึดทรัพย์ เน้นหนักตรงนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นแนวทางที่นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
"แนวทางของการยึดทรัพย์ อยากทบทวนเล็กน้อยในอดีตที่ดำเนินการ เรารู้ว่ายาเสพติดต้นทุนถูกมากประมาณเม็ดละ 50 สตางค์ ในอดีตที่ผ่านมา ขายเม็ดละ 200 300 จนถึง 20 บาทในขณะนี้ ในอดีตเข้ามาดำเนินการ ปี 2564-2566 ยึดทรัพย์ได้มากถึง 39,959 ล้านบาท และเป็นความสามารถของกระทรวงยุติธรรม ที่ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานทั้งหลาย" นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า
วันนี้ที่บอกว่าลดน้อยถอยลงไป ในเรื่องของกระบวนการการยึดทรัพย์ ผู้ร้ายหรือคนที่ค้ามีความรู้ทันกับรัฐบาล มีนวัตกรรมที่ตามขึ้นมา ก็ต้องหนีและต้องดำเนินการไปอีก เป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการปรับตัว รัฐบาลตั้งแนวทางเอาไว้ว่า เรื่องของการยึดทรัพย์ เบาะแสประชาชนที่แจ้งเบาะแสยึดทรัพย์ได้ 100 บาท ประชาชนจะได้ 5 บาท หรือในส่วนของราชการ เจ้าหน้าที่จะได้ 25 บาทหรือ 25%
ในส่วนนี้ได้บูรณาการช่วยกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการในการร่างกฎหมายของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เราจะทำให้มีกองทุน ในกรณีที่ อสม.ทำงานเพื่อประโยชน์ เช่น มีการแจ้งเบาะแสผู้ค้ายาเสพติด ถ้าหากว่าไม่กล้าแจ้งในนามของตนเอง กลัวคนร้ายจะรู้และเป็นอันตรายต่อชีวิต ก็สามารถแจ้งในนามของคนเป็นกลุ่ม หรือเป็นกองทุน อสม. เงินส่วนนี้ เข้าใจว่า จะสะท้อนกลับมาในกองทุนได้อีกส่วนหนึ่ง การดำเนินงานของ อสม. จริง ๆ แล้วไม่ได้ทำแค่ส่วนนี้ แต่หยิบยกขึ้นมา เพราะมีบุคลากร อสม.ถึง 1,080,0000 คนทั่วประเทศ
"ถ้าหากว่าเราเกิดกระบวนการการยึดทรัพย์ ถ้ายึดรายใหญ่ไม่ได้ เรายึดรายเล็ก ยาเสพติดที่เราเปลี่ยนแนวทางจาก 5 เม็ดเป็น 1 เม็ด และถือว่าเป็นผู้เสพ แต่มติคณะรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ดำเนินการ ไม่ใช่เอาไปบำบัดอย่างเดียว ต้องสืบค้นเค้นให้ได้ว่า 1 เม็ดนั้นได้มาจากไหน คนขายเป็นใคร แล้วถ้าเอาคนขายไปดำเนินคดีด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะจบลง เพราะถ้าไม่ได้ต้นน้ำก็เอาปลายน้ำ ถ้าต้นน้ำพ่อค้าเริ่มรู้ตัวแล้ว ถ้าหากปลายน้ำมีคนเสพก็แปลว่า มีคนขาย ยาเสพติดยังมาได้ นี่คือ แนวทางของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะดำเนินการในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้"
ในเรื่องของผู้ป่วยที่กล่าวว่า จำนวนเตียงไม่พอ ขาดแคลนนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอยู่แค่ 100 กว่าเตียง ความจริงแล้วมีของสำนักงานปลัดยุติธรรมอีก กทม.มีทั้งหมด 749 เตียง ทั่วประเทศ ในขณะนี้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3,622 เตียง กรมการแพทย์ 1,840 เตียง กรมสุขภาพจิต 1,094 เตียง และโรงพยาบาลจิตเวชยาเสพติด 4,469 เตียง รวม 9,931 เตียง ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ในการดำเนินการสิ่งต่าง ๆ
กรมสุขภาพจิต มีแนวทางในการปรับแก้การทำงานเป็น กรมสุขภาพจิตและยาเสพติด กำลังดำเนินการในการเสนอกฎหมาย เพราะทราบว่า กระบวนการยึดทรัพย์ที่มีอยู่นั้น สามารถมีทรัพย์สินได้จากพ่อค้ายาเสพติดและเอาทรัพย์สินเหล่านั้น มาสู่กระบวนการของกรมสุขภาพจิตและยาเสพติด ขณะนี้กำลังดำเนินการเสนอร่างเตรียมเข้าสู่คณะรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับปรุงบุคลากรอนุมัติแผนงาน ตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา อนุมัติแผนบุคลากรสาธารณสุข 10 ปี ผลิตแพทย์ทั่วไปและแพทย์ด้านจิตเวช รวมแล้วกว่า 30,000 ราย อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการ มีการพัฒนาป้องกันระบบให้คำปรึกษาระบบสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติด สายด่วน 1323 ให้คำปรึกษาและแนะนำในส่วนต่าง ๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 179 views