เช็กลิสต์ 46 จังหวัด ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พื้นที่ “กทม.” อยู่ระหว่างเตรียมตัว ใช้บริการตามเงื่อนไขหน่วยปฐมภูมิของ สปสช. ส่วน รพ.สังกัดสธ. กทม. เอกชน หากอยู่ในโครงการเข้าร่วมได้ หรือสอบถามความพร้อมได้ที่สายด่วน 1330
นับตั้งแต่รัฐบาลเพื่อไทยประกาศยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน หากเจ็บป่วยรักษาได้ใกล้ที่สุด ควบคู่กับการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ รองรับบริการประชาชนใกล้บ้านใกล้ใจ เจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไปโรงพยาบาล
โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หน่วยบริการเบิกจ่ายเงิน ได้ร่วมกับ 7สภาวิชาชีพในการออกนวัตกรรม ส่งเสริมการบริการสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งร้านยาคุณภาพ คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิกการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ร่วมกันในการจัดส่งยาถึงบ้าน ลดการรอคิวรับยา มีเฮลธ์ไรเดอร์ หรือบริการผ่านไปรษณีย์ หรือคนไข้สามารถรับยาร้านยาคุณภาพใกล้บ้านได้ รวมไปถึงการใช้ดิจิทัลสุขภาพเข้ามาช่วยในการนัดหมายต่างๆ เป็นต้น
เช็กลิสต์ 46 จังหวัดอะไรบ้าง แบ่งตามไทม์ไลน์
ซึ่งนับตั้งแต่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ประกาศคิกออฟ “30 บาทรักษาทุกที่” เฟสแรก เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ใน 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 เรื่อง จังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พ.ศ.2567 โดยเพิ่มเติมอีก 42 จังหวัด ประกอบด้วย
(1) จังหวัดนครราชสีมา
(2) จังหวัดนครสวรรค์
(3) จังหวัดพังงา
(4) จังหวัดเพชรบูรณ์
(5) จังหวัดสระแก้ว
(6) จังหวัดสิงห์บุรี
(7) จังหวัดหนองบัวลำภู
(8) จังหวัดอำนาจเจริญ
(9) จังหวัดเชียงใหม่
(10) จังหวัดเชียงราย
(11) จังหวัดน่าน
(12) จังหวัดพะเยา
(13) จังหวัดลำปาง
(14) จังหวัดลำพูน
(15) จังหวัดแม่ฮ่องสอน
(16) จังหวัดกำแพงเพชร
(17) จังหวัดพิจิตร
(18) จังหวัดชัยนาท
(19) จังหวัดอุทัยธานี
(20) จังหวัดสระบุรี
(21) จังหวัดนนทบุรี
(22) จังหวัดลพบุรี
(23) จังหวัดอ่างทอง
(24) จังหวัดนครนายก
(25) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(26) จังหวัดปทุมธานี
(27) จังหวัดอุดรธานี
(28) จังหวัดสกลนคร
(29) จังหวัดนครพนม
(30) จังหวัดเลย
(31) จังหวัดหนองคาย
(32) จังหวัดบึงกาฬ
(33) จังหวัดชัยภูมิ
(34) จังหวัดบุรีรัมย์
(35) จังหวัดสุรินทร์
(36) จังหวัดสงขลา
(37) จังหวัดสตูล
(38) จังหวัดตรัง
(39) จังหวัดพัทลุง
(40) จังหวัดปัตตานี
(41) จังหวัดยะลา
(42) กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ จังหวัด (1) ถึง (8) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2567
จังหวัด (9)ถึง (45) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2567
จังหวัด (42) คือ กรุงเทพมหานคร ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2567
การดำเนินการเรื่องบัตรทอง 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ เมื่อรวมที่ประกาศล่าสุด 42 จังหวัด และเฟสแรกอีก 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส รวมทั่วประเทศเป็น 46 จังหวัด
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศ เพิ่ม 42 จังหวัด เดินนโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่ฯ" รวม กทม.)
ไทม์ไลน์ 30 บาทรักษาทุกที่ สิ้นปีนี้ได้ทุกจังหวัด
ทั้งนี้ 46 จังหวัด ล้วนเป็นการดำเนินการตามไทม์ไลน์ที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ แบ่งเป็น
ระยะที่ 1 นำร่องใน 4 จังหวัด คิกออฟ 7 มกราคม 2567 ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส
ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 ขยายอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว นครราชสีมา อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู และพังงา
ระยะที่ 3 เริ่มเดือนพฤษภาคม 2567 ครอบคลุม 27 จังหวัดใน 4 เขตสุขภาพ คือ
เขตสุขภาพที่ 1 เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง และลำพูน
เขตสุขภาพที่ 4 นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก
เขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
เขตสุขภาพที่ 12 ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ระยะที่ 4 ภายในสิ้นปี 2567 จะครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ
บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ “กทม.” ใช้บริการตามเงื่อนไข
ประเด็นคือ เมื่อมีการเพิ่มพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” เข้ามาในการดำเนินการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทำให้ชาวกทม.เกิดความสงสัยว่า ณ ขณะนี้รักษาได้ทุกที่จริงหรือไม่
กระทั่งนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. แจงว่า ในส่วนของ กทม. นั้น ยังไม่ได้เริ่มตามแนวทาง 30 บาทรักษาทุกที่ โดยขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมรองรับ ทั้งในส่วนของการเตรียมงบประมาณ การเชื่อมต่อระบบบริการ และการจัดเตรียมหน่วยบริการเพื่อให้การดูแลประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่าในพื้นที่ กทม. เป็นพื้นที่มีความซับซ้อน ทั้งในด้านประชากรและจำนวนหน่วยบริการที่ไม่เพียงพอ
ขณะนี้ สปสช.ร่วมกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการเชิญชวน ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนประเภทต่างๆ เข้าร่วมดำเนินการเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) นอกจากไปรักษาได้ที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิแล้ว ยังเข้ารับการรักษาที่หน่วยนวัตกรรมที่เข้าร่วมกับ สปสช. ได้ ทั้งร้านยา คลินิกชุมชนอบอุ่นทั้ง 7 สภาวิชาชีพฯ ซึ่งประชาชนสามารถไปใช้บริการนอกเวลาราชการ หรือหลังเลิกงาน หรือตามเวลาเปิดทำการของคลินิกเอกชนประเภทต่างๆ
ดูรายละเอียดเพิ่ม https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-pilot-provinces
ขณะที่กทม. ได้ MOU ก่อนหน้านี้ ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องการรับบริการใน รพ.สังกัดสธ. กทม. เอกชน หากอยู่ในโครงการเข้าร่วมได้ หรือสอบถามความพร้อมได้ที่สายด่วน 1330 แต่ขอย้ำว่า นโยบายนี้ไม่ได้ต้องการให้ไปรักษาที่ รพ.ขนาดใหญ่ เพราะเราอำนวยความสะดวกการรักษาใกล้บ้าน หากเจ็บป่วยเล็กน้อยรักษาได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หากสงสัยอย่างไรสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330
(ข่าว : สปสช.แจงประกาศราชกิจจาฯ 30 บ.รักษาทุกที่ฯ บัตรทองกทม. เบื้องต้นเฉพาะ รพ.สธ.-กทม.ก่อน)
สปสช.ลั่นอยู่ระหว่างเตรียมพร้อม พื้นที่ “กทม.”
“ หากในพื้นที่ กทม. มีความพร้อมแล้วที่จะดูแลประชาชนภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ก็จะมีการเปิดตัวนโยบายอย่างเป็นทางการ เพื่อแจ้งการเริ่มบริการให้ประชาชนรับทราบต่อไป”
สปสช. ย้ำว่า ส่วนที่มีรายชื่อ กทม. อยู่ในประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่องจังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่นั้น เพื่อเป็นการจัดเตรียมงบประมาณจำนวน 64 ล้านบาทเพื่อใช้ในการดำเนินการรองรับในส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการ
26 มิ.ย. สปสช.ระดมความเห็นบัตรทอง
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ สปสช. จัด “การประชุมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567” เพื่อร่วมระดมความเห็นอีกครั้ง นำไปสู่การกลั่นกรอง วิเคราะห์ และสรุปเป็นข้อเสนอต่อ บอร์ด สปสช. พิจารณา และนำเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการรับฟังความเห็นฯ พร้อมรับมอบผลสรุปรับฟังความเห็นฯ นี้
- 28132 views