ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เศรษฐา” เปิด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท  แยกตามยุทธศาสตร์ ทุ่มงบกว่า 3.77 แสนล้านรับยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็ง บริการสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ และงบอีกกว่า 6.6 หมื่นล้าน เสริมสร้างคนมีสุขภาวะที่ดี ให้ปชช.เข้าถึงบริการ ส่งเสริมผลิตแพทย์ พยาบาลกว่า 32,360 คน และกระจายแพทย์ไปสู่ชนบท ไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อปี และพัฒนาอสม. สร้างเครือข่ายพลเมืองสุขภาพจิตดี 928 อำเภอ

 

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน ที่อาคารรัฐสภา   นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อสภาผู้แทนราษฎร  โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นจำนวน จำนวน 3,752,700 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 272,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  โดยวันนี้เป็นวันแรกในการอภิปรายตลอดทั้ง 3 วัน คือตั้งแต่ที่ 19-21 มิถุนายน 2567 และวันสุดท้ายจะมีการลงมติในวาระแรกหรือขั้นรับหลักการ

 

ซึ่งสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำแนกตามยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข การดูแลสุขภาพคุณภาพชีวิต อาทิ

 

รบ.จัดงบกว่า 5 พันล้านแก้ปัญหายาเสพติด เข้าสู่การบำบัดรักษา  

ยุทธศาสตร์ที่ 1  ด้านความมั่นคง

ยกตัวอย่าง การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเพสติด งบประมาณ 5,087.7 ล้านบาท เพื่อให้ปัญหายาเสพติดได้รับการแก้ไข เด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนกลุ่มเป้าหมาย มีภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันและปลอดภัยจากยาเสพติด ให้การช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างการยอมรับและให้โอกาสทางสังคมกับผู้ที่ได้รับการบำบัด ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ยกตัวอย่าง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล งบประมาณ 2,790.5 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยการขยายโครงข่ายสื่อสารหลักและบรอดแบรนด์ความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งเสริมการลงทุนและใช้ทรัพยากรร่วมกัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และบริการคลาวด์กลางภาครัฐ พร้อมมาตรการเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์ เพิ่มประสิทธิภาพการตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกสาขาอาชีพ รวมถึงอุตสาหกรรมเกมซอฟต์พาวเวอร์ไทย

ทุ่มงบฯ ให้ ปชช.เข้าถึงบริการสาธารณสุข ผลิตแพทย์ บุคลากรเพิ่ม!

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

ยกตัวอย่าง  

- การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี งบประมาณ 66,313.7 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานสากล ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการผลิตแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่น้อยกว่า 32,360 คน และกระจายแพทย์ไปสู่ชนบท ไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อปี พัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิและเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพด้วยการเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มการส่งเสริมสุขภาพ ไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน พัฒนาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ทันสมัยเพื่อรองรับการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ สนับสนุนเครื่องมือและนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่เพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบส่งต่อ

พัฒนาภาคีเครือข่ายจัดการสุขภาพชุมชนอย่างยั่งยืน

พัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,075,163 คน และภาคีเครือข่าย ให้มีศักยภาพในการจัดการสุขภาพชุมชนได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน ตลอดจน พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตและขับเคลื่อนเครือข่ายพลเมืองสุขภาพจิตดี 928 อำเภอ รวมทั้ง เสริมสร้างความเป็นเลิศทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพรในระบบสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นทางเลือกให้กับประชาชน

เตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

ยกตัวอย่าง

-การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย งบประมาณ 887.8 ล้านบาท  เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชากรก่อนวัยสูงอายุ มีความรอบรู้ในทุกมิติไม่น้อยกว่า 4.4 ล้านคน เช่น การดูแลรักษาสุขภาพ โรคและความเสี่ยงของสุขภาพที่จะส่งผลกระทบเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ  การออมเงินและการบริหารหนี้ การจัดการที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนทุกวัย เป็นต้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ ด้านสังคม ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและเข้าถึงระบบคุ้มครองทางสังคม รวมถึงส่งเสริมบุคลากรด้านสุขภาพให้ได้รับการฝึกอบรม  ด้านสภาพแวดล้อม ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุให้เหมาะสม ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลด้านอนามัยพื้นฐานทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม สามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ  ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบและนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ และสร้างเสริมความเสมอภาคด้านสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

-    การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณ 369,790.6 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกมิติ ประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่นักเรียนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สนับสนุนอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวัน สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ รวมถึงสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเสียและขยะในระดับจังหวัด ส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนในทุกพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงนโยบายและการบริหารจัดการระหว่างส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ สู่การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

ทุ่มงบสร้างหลักประกันสังคม ทั้งสุขภาพ สิทธิประโยชน์การแพทย์

-การสร้างหลักประกันทางสังคม งบประมาณ 377,296.4 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกจากบริการพื้นฐานการแพทย์ใกล้บ้าน โดยยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม บริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ และการตรวจคัดกรองซิฟิลิสสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ต้องขัง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพที่มีมาตรฐานด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ไม่น้อยกว่า 47.16 ล้านคน ส่งเสริมการสร้างหลักประกันสังคมและสวัสดิการสำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบให้สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ครอบคลุมผู้ประกันตนทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างความปลอดภัยและอนามัยสุขภาพในการทำงานให้เหมาะสม  ส่งเสริมค่าใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่น้อยกว่า 14.98 ล้านคน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการอำนวยความยุติธรรม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเสมอภาค
 

 ทั้งนี้ ติดตามรายละเอียดแผนงบประมาณ2568 เพิ่มเติมได้ที่  ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-สธ.พร้อมอภิปรายงบฯหลังรับเพิ่มกว่า 9% รับยกระดับ 30 บาทฯ -เงินเสี่ยงภัยโควิด อยู่งบกลาง