บอร์ด สปสช. ไฟเขียวบริการ ‘พอกเข่า’ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยบัตรทองโรคข้อเข่าเสื่อม สิทธิบัตรทอง อายุ 40 ปีขึ้นไป รับบริการได้ทั้งที่หน่วยบริการของรัฐ “คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น” ไม่เสียค่าใช้จ่าย 1 ครั้งต่อวัน รวม 5 ครั้งต่อสัปดาห์
ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบ “สิทธิประโยชน์บริการหัตถการพอกเข่า สำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม/โรคลมจับโปงแห้งเข่า หรือโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นรายการในชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)” เพิ่มเติมให้กับประชาชนที่ไปรับบริการจากหน่วยบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำเสนอโดย รศ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และ นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การให้บริการหัตถการพอกเข่าสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนี้ เป็นการดูแลกลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีอาการปวดเข่าจากภาวะเข่าเสื่อม ให้ได้รับการรักษาจากหน่วยบริการการแพทย์แผนไทย วันละไม่เกิน 1 ครั้ง รวม 5 ครั้งภายใน 2 สัปดาห์ จากหน่วยบริการที่ให้บริการแพทย์แผนไทยของรัฐ และหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ หรือ “คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น” ที่เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
นอกจากนี้ ในส่วนงบประมาณสำหรับบริการชุดสิทธิประโยชน์ดังกล่าว หน่วยบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงหน่วยบริการนวัตกรรมที่ให้การรักษา สามารถเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการหัตถการพอกเข่าด้วยสมุนไพรสำหรับรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมจาก สปสช. ในอัตรา 100 บาทต่อครั้งต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 5 ครั้งใน 2 สัปดาห์ ซึ่งคาดการณ์ปีงบประมาณ 2567 จะใช้วงเงินที่จำนวน 6.8 ล้านบาท ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยจำนวน 1.3 หมื่นคน และในส่วนปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะใช้งบประมาณในบริการดังกล่าวประมาณ 41 ล้านบาท ให้การดูแลผู้ป่วยประมาณ 8.2 หมื่นคน
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในประเทศไทยประมาณ 165,217 คน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งโรคข้อเข่าเสื่อมส่งผลกระทบในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกายที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิต รวมไปถึงมีผลกระทบด้านจิตใจ เกิดความวิตกกังวล และยังเป็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะเป็นโรคที่ต้องรักษานานและมีค่าใช้จ่ายสูง
“จากผลการศึกษาวิจัยเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัยของหัตถการพอกเข่าในกลุ่มผู้ป่วยโรคลมจับโปงแห้งเข่า หรือโรคข้อเข่าเสื่อม ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. ระบุว่า อาการปวดเข่าจะลดลงเมื่อรับบริการหัตถการพอกเข่าอย่างน้อย 1-5 ครั้ง อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการใช้งานข้อเข่าได้ดีกว่าเดิม และไม่มีอาการพึงประสงค์ตามมา ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมดีขึ้น ดังนั้น สปสช. จึงนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. เพื่อกำหนดเป็นสิทธิประโยชน์ในวันนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามในที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สปสช. ต้องเตรียมระบบรองรับและจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้กับหน่วยบริการที่ให้บริการตามชุดสิทธิประโยชน์นี้ โดยให้มีผลหลังจากประกาศบังคับใช้ และให้แจ้งการเริ่มให้บริการกับประชาชนหลังจากที่ระบบมีความพร้อมแล้ว รวมไปถึงให้ สปสช. หาวิธีการในการติดตามประเมินผลการให้บริการ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าเป็นบริการที่มีความคุ้มค่าหรือไม่ในปีงบประมาณถัดไปด้วย
- 622 views