เปิดผลประเมิน “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว” พบ หน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่จำนวน 1,326 แห่ง ช่วยลดแออัดใน รพ.ได้ พร้อมเผยข้อมูลการดำเนินการระยะที่ 1-2 มี ประชาชนรับบริการเกือบ 5 แสนครั้ง ใน 12 จังหวัดนำร่อง
วันที่ 18 พ.ค. 2567 นพ.ปฏิภาคย์ นมะหุต ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล กลุ่มภารกิจกำกับติดตามประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงการประเมินผลโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวว่า ขณะนี้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้ดำเนินการแล้วใน 2 ระยะ รวม 12 จังหวัด ได้แก่ ระยะที่ 1 มี 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล นราธิวาส
ส่วนระยะที่ 2 มี 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว โดยพบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการสุขภาพไปแล้ว 1.6 ล้านคน รวมบริการทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้เกือบ 25% หรือ 5.8 แสนครั้ง เป็นการใช้บริการจากหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ ทั้ง 7 ประเภท ที่ให้บริการโดยภาคเอกชน ประกอบด้วยคลินิกเวชกรรม ร้านยา คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ (ตรวจแล็บ) คลินิกกายภาพบำบัดและคลินิกการแพทย์แผนไทย รวมถึงบริการโทรเวชกรรมหรือเทเลเมดิซีน
"ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ และเข้าใจเกี่ยวกับการไปรับบริการ จึงทำให้ระบบเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างดี และทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ผู้ป่วยเลือกไปรับบริการจากหน่วยบริการเหล่านี้มากกว่าไปโรงพยาบาล ซึ่งเป็นภาพที่ สปสช. ต้องการให้เกิดขึ้น" ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล กล่าว
นพ.ปฏิภาคย์ กล่าวอีกว่า ผลลัพธ์ที่สะท้อนความสำเร็จเบื้องต้น พบว่าประชาชนลดการเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่ในบางพื้นที่ก็มีเพิ่มขึ้นบ้างแต่ก็ไม่มาก และไม่ได้เป็นภาระต่อโรงพยาบาล แม้แต่การให้บริการข้ามเครือข่ายหรือข้ามพื้นที่กันก็ยังพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น ตรงนี้สะท้อนว่าหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เป็นทางเลือกแรกของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่จังหวัดที่ดำเนินการโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทั้งในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ในระบบ รวมทั้งหมดจำนวน 1,326 แห่ง และยังมีที่อยู่ระหว่างการทยอยเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเพิ่มเติม
“สาเหตุที่ทำให้มีหน่วยบริการภาคเอกชน 7 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นคลินิกเวชกรรม ร้านยา คลินิกการพยาบาล คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกการแพทย์แผนไทย เข้าร่วมโครงการมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มองว่าเป็นผลจากการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการในโครงการที่มีความคุ้มค่า รวมถึงกระบวนการเบิกจ่ายที่ทำได้รวดเร็วภายในระยะเวลา 3 วัน ตามที่ได้ประกาศไว้” ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล กล่าว
นพ.ปฏิภาคย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการร้องเรียนตั้งแต่เปิดให้บริการโครงการฯ นั้น พบว่ามีเพียง 5 รายเท่านั้น เป็นกรณีที่ไม่ได้รับบริการตามสิทธิ 1 ราย ไม่ได้รับความสะดวก 3 ราย และถูกเรียกเก็บเงินอีก 1 ราย ซึ่งจากข้อร้องเรียนเหล่านี้ สปสช. มีทีมเข้าไปบริหารจัดการร่วมกับหน่วยบริการทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการทำความเข้าใจต่อนโยบาย เพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำซ้อน และให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี
- 254 views