ยกระดับ "นโยบาย 30 บ.รักษาทุกที่" ชูเทคโนโลยีมีมาตรฐานช่วยสาธารณสุขไทย สามารถบริหารจัดการทรัพยากร เก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก
แผนการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่ 4
กระทรวงสาธารณสุขเผยแผนการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่ 4 โดยครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด โดยแนวทางการพัฒนาระบบบริการระยะที่ 4 คือ 1. การเตรียมความพร้อมทั้งความปลอดภัยไซเบอร์โรงพยาบาลอัจฉริยะประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ 2. ก่อนการเข้ารับบริการ มีการนัดหมายออนไลน์ 3. สำหรับวันเข้ารับบริการ มีใบรับรองแพทย์ดิจิตอล ใบสั่งยา/สั่งแล็บ การเบิกจ่ายกับกองทุนสุขภาพ บริการส่งยาทางไปรษณีย์ และบริการส่งยา Health rider 4. หลังการเข้ารับบริการ มีการดูแลผู้ป่วยที่บ้านรวมทั้งการแพทย์ทางกายเภสัชกรรมทางกายและการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้สำหรับการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย (Moph Refer). 1. มีระบบการแจ้งเตือนผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นหรือ LINE OA 2. มีระบบข้อมูลการส่งต่อการรักษาตัวกลาง 3. ใบส่งต่อการรักษาแบบดิจิตอลที่มีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์กำกับ 4. มีข้อมูลภาพถ่ายฉายรังสีผ่านระบบ Imaging Hub 5. มีประวัติการรักษาแบบ Full Medical Record
ทั้งนี้ พื้นที่นำร่องการพัฒนาระบบ ได้แก่ จังหวัดลำปาง ตำบลวังพร้าว จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ และจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย 9 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง , ผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด, ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง, ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบระยะยาว, ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบระยะกลาง, การส่งเสริมและการป้องกันโรค, ผู้พิการการ, สอบสวนโรคติดต่อ, และการดูแลผู้สูงอายุ
ในส่วนแนวทางการดำเนินงานระยะถัดไปตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่ 4 คือ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่ 4 วันที่ 25 - 26 พฤศจิกายน 2567 โดยมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน รวมถึงจัดงานสู่ความสำเร็จนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วไทย ภายในเดือน มกราคม 2568
นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊ก Tech Movement ยังเผยถึงเทคโนโลยีขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ ว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่มุ่งสู่การเป็นระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อยกระดับบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ทำให้ประชาชน และหน่วยบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพทันทีผ่านแพลตฟอร์มกลาง สำหรับสธ. สามารถติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโครงการได้อย่างครอบคลุม ผ่านระบบ dashboard ที่แสดงข้อมูลสำคัญ แบบ realtime ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถวางแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
เทคโนโลยีเบื้องหลัง มีอะไรบ้าง ?
1. Digital Health Platform หมอพร้อม แพลตฟอร์มกลางของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ประชาชนในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่าย มีการเชื่อมต่อกับประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ การปรึกษาแพทย์ออนไลน์ และการนัดหมายพบแพทย์ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานหมอพร้อมรวมแล้วกว่า 42 ล้านคนผ่าน LINE OA และแอปพลิเคชัน 2. Digital Health Service การบริการทางการแพทย์ การตรวจเลือดจากรถโมบาย การจัดส่งยาถึงบ้าน การปรึกษาแพทย์ออนไลน์ การตรวจรักษา การออกใบสั่งยา หรือการชำระเงิน ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ผ่านการพิสูจน์ตัวตันดิจิทัล ประชาชนทำการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนที่หน่วยบริการ (Health ID) และสามารถติดตามประวัติการรักษาของตนเองได้อย่างสะดวก ผ่านแอปพลิเคชันหรือไลน์หมอพร้อม บุคลากรทางการแพทย์ต้องยืนยันตัวตนระดับสูงสุด (IAL3) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการบริการจากบุคคลที่ยืนยันตัวตนที่ได้ รับใบอนุญาตทางการแพทย์จริง ๆ ป้องกันการปลอมแปลงตัวตน 4. Electronic Certification การลงรายมือดิจิทัล ช่วยในการออกใบรับรองต่างๆ เช่น ในรับรองแพทย์ ในสั่งยา ใบสั่งแล็บ ที่มีความน่าเชื่อถือ 5. Financial Data Hub ระบบที่ช่วยให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ลดภาระของทั้งผู้ป่วยและหน่วยบริการ
นอกจากนี้ โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ใช้เทคโนโลยี AI Big Data และ Business Intelligence บนคลาวด์ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล มีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
แล้วการยกระดับนี้ เกิด Impact ต่อประเทศอย่างไร ?
1. ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล 2. ลดค่าใช้จ่าย เทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของระบบสุขภาพ และอาจนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยได้ในระยะยาว 3. ช่วยให้การให้บริการทางการแพทย์มีคุณภาพมากขึ้น และมีความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษาโรค 4. ช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลมากขึ้น 5. บรรลุเป้าหมาย SDG 3 ด้านสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย มุ่งเน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสำหรับทุกคน
เทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้สาธารณสุขไทย สามารถบริหารจัดการทรัพยากร เก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ และสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนในอนาคต
- 318 views