ชุมชนอบอุ่นสหคลินิกฯ ห่วงหากถูก สปสช.เรียกเก็บเงินย้อนหลัง 1.9 ล้าน อาจยุติบริการประชาชน อยู่ไม่ได้อีกต่อไป ขอ สปสช.จัดสรรงบฯเพียงพอต้นทุนค่าใช้จ่าย ด้านเลขาฯ สปสช.เล็งปรับค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ เพิ่มรายได้ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ทั่วกรุงเทพฯ

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่รับฟังปัญหาการดำเนินการ “ชุมชนอบอุ่นสหคลินิก (เวชกรรมและการแพทย์แผนไทย)” ซอยประชาสงเคราะห์ 26 เขตดินแดง กทม. โดยเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่ประสบปัญหาจากการจ่ายเงิน Model 5 หรือจ่ายตามรายการจริง ว่า  เท่าที่รับฟังข้อมูลพบว่าตามกติกาการให้บริการของ สปสช. อาจทำให้คลินิกในระบบฯ ไปเน้นที่การส่งต่อผู้ป่วยและทำให้เกิดตัวเลขของการตามจ่ายผู้ป่วยที่ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสูงมาก

ยกตัวอย่าง ที่ชุมชนอบอุ่นสหคลินิกนี้ มีสัดส่วนของการตามจ่ายผู้ป่วยส่งต่อสูงถึง 70% ของรายได้ ขณะที่สัดส่วนรายได้จากบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีเพียง 30% เท่านั้น ทั้งที่ควรมีสัดส่วนที่ 50-60% ดังนั้นนอกจากการแก้ปัญหาโดยปรับวิธีการจ่ายบริการผู้ป่วยนอกเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัวตามข้อเสนอที่ได้เริ่มไปแล้วนั้น สปสช.จะทำการปรับอัตราการจ่ายค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย ซึ่งขณะนี้ยังมีเงินเหลืออยู่จำนวนมาก ในการช่วยเพิ่มเติมให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยรายละเอียดนี้จะเสนอต่อ อปสข. เขต 13 กทม. พิจารณาก่อน และจะประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับใหม่ โดยจะให้ใมีผลจ่ายย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัญหาการเบิกจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอก ในวันนี้ยังพบว่ามีบางรายการที่มีการคีย์ข้อมูลเรียกเก็บค่าบริการผิดหมวดหมู่ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ในจุดนี้ สปสช. จะมีคณะทำงานเข้ามาช่วยตรวจสอบรายละเอียดรายการเบิกจ่ายต่างๆ ของคลินิกอย่างละเอียด เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะ แต่เบื้องต้นยืนยันว่า สปสช. จะยังไม่มีการเรียกเก็บเงินคืนในช่วงนี้ จนกว่าจะพิสูจน์จำนวนการเบิกจ่ายที่ถูกต้องก่อน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : 1 มี.ค. สปสช.ปรับวิธีจ่ายเงิน คลินิกชุมชนอบอุ่น กทม. ส่วนหนี้ค้างยังไม่แตะ – ป้ายดำยังไม่ปลด!)

 

คลินิกฯ ห่วงหากถูกสปสช.เรียกเก็บ 1.9 ล้าน อาจยุติบริการ

นางอนงค์ โรจน์กูลชัย ผู้บริหารชุมชนอบอุ่นสหคลินิก กล่าวว่า ชุมชนอบอุ่นสหคลินิกให้บริการมาประมาณ 3 ปี ดูแลประชากรประมาณ 12,000 คน ในซอยประชาสงเคราะห์ 26 และชุมชนใกล้เคียง คือ ชุมชนซอยเปรมสมบัติ การเคหะชุมชนห้วยขวาง แฟลต 1-5  และ 29-38 ชุมชนซอยสุขร่วมกัน ชุมชนซอยประชาราษฏร์บำเพ็ญ และชุมชนรอบสนามกีฬาห้วยขวาง ให้บริการทั้งการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่ละเดือนมีต้นทุนบริการอยู่ที่ 7 แสนบาท ไม่รวมค่า OT ของบุคลากร ค่าอุปกรณ์และเวชภัณฑ์สิ้นเปลือง และค่าทำการตลาด ซึ่งโดยเฉลี่ยมีรายได้เดือนละ 8-9 แสนบาท นับว่าพออยู่ได้ ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจาก สปสช. ว่าจะเรียกเก็บเงินคืนจำนวน 1.9 ล้านบาท หากเป็นเช่นนั้นจริงอาจขายกิจการหรือยุติการให้บริการไป

ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยส่งต่อคุมยาก งบสูง!

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายกรณีตามจ่ายผู้ป่วยส่งต่อเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ประกอบกับรูปแบบการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้อง อาทิ การให้งบเหมาจ่ายคลินิกเป็นแบบปลายปิด ส่วนการจ่ายค่าบริการในการส่งต่อผู้ป่วยเป็นแบบปลายเปิด ขณะที่ในส่วนการสร้างรายได้เพิ่มจากบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคลินิกเช่นกัน เพราะอย่างที่ชุมชนอบอุ่นสหคลินิกเวชกรรมฯ มีชุมชนที่อยู่ใกล้คลินิกและเป็นชุมชนที่อยู่ติดๆกัน ทำให้สามารถทำงานส่งเสริมสุขภาพได้ดี แต่ในกรณีของคลินิกที่ต้องดูแลพื้นที่ที่มีหมู่บ้านจัดสรรจะทำอย่างไร เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เข้าถึงง่ายหรือยาก แต่ละคลินิกก็มีต้นทุนบุคลากรเท่าๆ กัน

ขอ สปสช.จัดสรรงบฯเพียงพอต้นทุนค่าใช้จ่าย

“อยากให้ สปสช. มองใน 2 มุม อันดับแรกจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับต้นทุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรก่อน หลังจากนั้นจึงเป็นค่าตอบแทนในการจัดรายบริการหรือเหมาจ่ายก็ได้ ส่วนการปรับรูปแบบการจ่ายจาก Model 5 มาเป็นแบบเหมาจ่ายคงต้องรอดูกันต่อไป แต่คิดว่าสาเหตุที่แท้จริงคือ สปสช.จัดสรรงบประมาณมาไม่เพียงพอ ดังนั้นแม้จะเปลี่ยนมาเป็นแบบเหมาจ่ายก็ไม่ได้แตกต่างกัน” ผู้บริหารชุมชนอบอุ่นสหคลินิก กล่าว