กรมสุขภาพจิต ให้ความสำคัญปัญหาผู้ป่วยขาดยา ขอทุกฝ่ายร่วมสนับสนุนเพื่อผลักดันยาฉีดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูงเพื่อเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ แม้ราคาสูงแต่คุ้มค่า เป็นการลงทุนเพิ่มคุณภาพชีวิต
ตามที่ก่อนหน้านี้กรมสุขภาพจิต เผยแพร่ข้อมูลกรณีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตกำเริบ ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุจากการขาดการกินยาต่อเนื่อง ซึ่งสามารถยับยั้ง หากได้รับการสนับสนุนเพื่อผลักดันการนำยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูงเพื่อเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ พร้อมทั้งกำชับหากพบผู้ป่วยที่สงสัยก่อความรุนแรง หรือ ขาดยาจนอาจก่อความรุนแรง ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2562 เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ ว่า ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถทำการรักษาได้หลายวิธี ซึ่งในกรณีของผู้ป่วยรายนี้มีอาการป่วยทางจิตแต่ไม่ยอมกินยา จึงทำให้อาการกำเริบ ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ชอบกินยาหรือไม่กินยาอย่างสม่ำเสมอ แพทย์มีทางเลือกที่จะให้การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น ยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาว ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 – 3 เดือน ซึ่งในปัจจุบันมียาที่ออกมาใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงน้อยและมีคุณภาพสูง แก้ปัญหาการขาดยา
ทั้งนี้ ปัญหาอยู่ที่ยาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลัก และเป็นยาที่ค่อนข้างมีราคาสูง แต่ถ้าหากคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความเดือดร้อนในสังคม ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น ค่ารักษาทางด้านร่างกาย การเสียทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการควบคุมตัว ซึ่งเมือเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาอาจจะมีมูลค่าพอกันเลยทีเดียว และหากมองในการเรื่องของการลงทุนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ก็ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุนอย่างมาก
“ กรมสุขภาพจิตจึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจกับคนไข้จิตเวชที่ขาดยา และมีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรง ให้ช่วยผลักดันและสนับสนุนให้มีการนำยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูงเพื่อเข้าสู่บัญชียาหลัก เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจริงๆ ที่จะทำร้ายตนเองหรือสังคม ที่เรียกว่า Serious Mental Illness with High Risk to Violence หรือ SMI-V” นพ.พงศ์เกษม กล่าว
ด้าน นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อยากขอความร่วมมือกับบุคคลที่อยู่ในครอบครัว ชุมชน อสม และผู้นำท้องถิ่นที่มีผู้ป่วยประเภทนี้อยู่ในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่อง เฝ้าระวังและระมัดระวัง อาการที่บ่งบอกถึงผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง อันได้แก่ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กู้ภัย 1669 นำตัวเข้าสู่ระบบการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เกิดผลดี หรือหากพบผู้ที่กำลังรักษาตัวและขาดยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน ให้นำตัวไปปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับยาหรือใช้ยาฉีดเพื่อป้องกันอาการกำเริบ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรง และถือว่าเป็นผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2562 ซึ่งมีกฏหมายนี้ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือหน่วยงาน 1669 ที่สามารถจะเข้าควบคุมตัวได้
แต่อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ปฏิบัติงานมีความระมัดระวัง มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการเข้าระงับเหตุหรือการควบคุมตัวทั้งเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้ก่อเหตุอีกด้วย กรมสุขภาพจิตจึงขอให้ครอบครัว ญาติ และคนใกล้ชิด สอดส่องสังเกตอาการผิดปกติทางจิตของคนในครอบครัว หากสงสัยให้ดำเนินการปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ถ้าพิจารณาแล้วพบว่ามีภาวะเสี่ยง ให้ส่งต่อเพื่อประเมินรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และหากพบว่ามีภาวะอันตรายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาทันท่วงที ให้รีบโทรแจ้งสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และสายด่วนตำรวจ 191
- 2007 views