ปลัดสธ. เผย รมว.สธ.เตรียมกำหนดวัน คิกออฟ “30 บาทรักษาทุกที่เฟส 4” พร้อมมอบนโยบายปี 68   ด้านสธ.ตั้งเป้ารพ.สังกัดกว่า 1 พันแห่งเป็นรพ.เดียวกัน ถึงระดับ One Country One Hospital  เชื่อมข้อมูลสุขภาพดิจิทัลบนพื้นฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ ผุดแนวคิดขยายรองรับสิทธิประกันสังคมในอนาคต รักษาข้ามสิทธิข้ามรพ.ได้

 

ตามที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 รวมมาแล้ว 3 ระยะครอบคลุม 46 จังหวัด(รวมกรุงเทพมหานคร) ขณะเดียวกันจังหวัดอื่นๆ ตามเป้าหมายต้องครอบคลุมให้ครบในระยะที่ 4 ภายในสิ้นปี 2567 นั้น

“สมศักดิ์” เตรียมมอบนโยบายปี 68 ‘30 บาทรักษาทุกที่’

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ดอนเมือง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่ 4 โดยมีผู้แทนจากเขตสุขภาพทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม  ว่า  วันนี้เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข คือ โครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการในการเข้าสู่เฟส 4 โดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้หมด ตามแผนเดิมจะดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2567

“ในวันที่ 26 พฤศจิกายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะมาร่วมประชุมรับฟังข้อสรุปการดำเนินการ และมอบนโยบายการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในปี 2568 พร้อมกำหนดวันคิกออฟ อย่างเป็นทางการสำหรับเฟส 4 ต่อไป” ปลัดสธ.กล่าว

รพ.สธ.พร้อมเชื่อมข้อมูลสุขภาพดิจิทัลทุกแห่ง

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จากการสอบถามรพ.ในสังกัดสธ. มีความพร้อม ซึ่งมี 2 ส่วน โดยส่วนแรก เมื่อประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียว ไปรพ.ไหนของกระทรวงฯ ข้อมูลจะเชื่อมโยงถึงกันหมด และส่วนที่สอง  ประชาชนที่มีLine หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ประวัติก็จะอยู่ในนั้น จึงสามารถเปิดประวัติของตนได้ หาหมอที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้   สิ่งที่ทำควบคู่กับการเชื่อมข้อมูลสุขภาพ คือ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลฯ  สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญ มาดูระบบความปลอดภัยข้อมูลบนโลกออนไลน์

เชื่อมข้อมูลรพ.สธ.ทั่วประเทศ หวังขยายรับสิทธิประกันสังคม

เมื่อถามว่าตั้งแต่เริ่มโครงการ สำหรับรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปัญหาเรื่องใบส่งตัวลดลงหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า   ปัญหาการส่งตัวต่างๆ ลดลง เนื่องจากสธ.มีระบบ One Province One Hospital หรือ หนึ่ง จังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล(รพ.) คือ โรงพยาบาลเดียวกันภายในจังหวัดสามารถเชื่อมข้อมูล ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาได้ที่ไหนก็ได้  แต่อาจจะติดขัดบ้าง เช่น รพ.บางเห็นอาจเตียงเต็ม จึงต้องมีการสอบทานว่าที่ไหนมีเตียงว่างบ้าง แต่ก็เกิดน้อยลงมาก และเมื่อรพ.จังหวัดเดียวกันพร้อม ต่อไปจะใช้ระบบเขตสุขภาพ คือ เป็นการส่งต่อผู้ป่วยในเขตสุขภาพนั้นๆ สามารถส่งต่อผู้ป่วยภายในเขตเดียวกันได้ทั้งหมด

“ก้าวต่อไปในอนาคต  เราถือว่า รพ.ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลเดียวกันทั้งหมดพันกว่าแห่ง ต่อไปในระบบกระทรวงฯ หากประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียวไปรักษาได้ทุกที่ ส่งตัวได้ทุกที่ ดูข้อมูลได้ทุกที่” ปลัดสธ.กล่าว

เมื่อถามว่า หากในอนาคตรพ.ในกระทรวงฯ เป็นหนึ่งเดียวกัน สิทธิอื่นอย่างประกันสังคมจะเข้ามาด้วยได้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นแนวคิด กรณีเชื่อมข้อมูลได้ทั้งหมด แต่ต้องหารือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งถือเป็นความท้าทายในระบบดิจิทัลด้านสุขภาพ

ตั้งเป้า One Country One Hospital  

ทั้งนี้  นพ.โอภาส  กล่าวตอนหนึ่งภายในการประชุมเปิดเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่ 4 โดยย้ำถึงการดำเนินการเชื่อมข้อมูลต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ cyber security อย่างนพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดสธ. เคยดูเรื่องนี้ในเขตสุขภาพที่ 8 มีความปลอดภัยมั่นคงทางไซเบอร์ที่สูง จึงเป็นตัวอย่างให้เขตสุขภาพอื่นๆได้ โดยสิ่งสำคัญต้องมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ และทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย PDPA

“ ผมเชื่อว่า ในกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยเดียวกัน เป็นนิติบุคคลเดียวกัน ข้อมูลของเราไม่ค่อยมีปัญหา แต่เวลาจะไปเชื่อมกับหน่วยงานอื่น เขาก็จะกังวลในเรื่องความปลอดภัยและเรื่องกฎหมาย กระทรวงฯจึงต้องแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยเรื่องข้อมูลของเรา ต้องมีระบบจัดการได้ มีผู้ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ทุกหน่วยงาน เรียกว่า CISO ดังนั้น ขณะนี้หน่วยงานในสธ.พร้อมแล้ว เราเป็นหน่วยงานเดียวกัน ความเป็น Unity ของกระทรวงสาธารณสุขมีสูง” ปลัดสธ.กล่าว

นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขในการขับเคลื่อนข้อมูลสุขภาพดิจิทัล ในระดับประเทศ ว่า จากระดับจังหวัด สู่ระดับเขตสุขภาพ และในอนาคตรพ.ในสังกัดสธ.จะเป็นหนึ่งเดียวทั้งประเทศกว่า 1 พันแห่ง ซึ่งไปรักษาที่ไหนถือเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด ในเชิงนโยบายเราประกาศเป็น รพ.ของประเทศไทย ของกระทรวงสาธารณสุข one country one hospital เพราะเรามีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 70% เรียกว่าเป็นหน่วยบริการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

“หากเราพร้อมวันข้างหน้าอาจร่วมกันหน่วยงานอื่นๆ อย่างเช่น รพ.ตามสิทธิของประกันสังคม อย่างผู้ประกันตนรพ.บ้างโป่ง จ.ราชบุรี สามารถรักษาที่รพ.ราชวิถีได้ นี่คือความท้าทายว่าเราพร้อมหรือไม่ นี่จะเข้าสู่ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวมากยิ่งขึ้น” ปลัดสธ.กล่าว