ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมศักดิ์” ชูนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ รับเบื้องต้นอาจยังไม่เต็ม 100% ทันที อย่างกทม. มีหน่วยบริการนวัตกรรม พร้อมตั้งอนุกรรมการฯบริหารงบบัตรทอง เพื่อให้คล่องตัว ถูกต้อง ปัดตอบปมลด “งบผู้ป่วยนอก” รพ.ใหญ่ ส่วนรพ.โรงเรียนแพทย์ อยู่ระหว่างพิจารณาเบิกจ่ายให้สัดส่วนเท่ากัน

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวภายในงานโครงการยกระดับบริการสุขภาพสู่ประชาชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาค รวมทั้งมีนโยบายพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค มาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดเวลาและค่าใช้จ่าย

 รวมถึง สามารถรองรับความต้องการใหม่จากสถานการณ์สังคมสูงวัยได้ ตลอดจนนำศักยภาพของเครือข่ายสาธารณสุข หรือ อสม. มาช่วยในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งสามารถป้องกันได้หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม   สธ.มุ่งมั่นพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู สุขภาพกายและจิตใจ

ยกระดับสุขภาพปฐมภูมิ ชูหน่วยบริการนวัตกรรม สปสช.

 นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า  ระบบปฐมภูมิ คือการบริการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ก่อนที่จะเข้าสู่การรักษาในรพ.หรือการรักษาโรคขั้นสูงขึ้นไป โดยในปีงบประมาณ 2567 มีการยกระดับหน่วยบริการนวัตกรรมใหม่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2568-2569 ก็จะมีการดำเนินการเช่นนี้ต่อไป โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ทำหน้าที่เคลียริ่งเฮาส์ในการดำเนินงานเรื่องทางการเงิน ซึ่งการยกระดับมาตรฐานเป็นไปตามสากลของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้จ่ายค่อนข้างต่ำแต่มีคุณภาพสูง โดยมีการยกระดับหน่วยบริการนวัตกรรมเพิ่มเติมในทุกภูมิภาค

รับทุกพื้นที่ยกระดับ 100% ทันทีไม่ได้ อย่างกทม.

“ทุกพื้นที่จะให้ยกระดับ 100 % ไม่ได้ต้องค่อยดำเนินไป ส่วนพื้นที่กทม.ก็เป็นความพยายามว่ามีการบริหารอย่างไร ให้มีรพ.ครบทุกเขตหรือไม่ จะสร้างขึ้นใหม่จะต้องใช้เวลา 3-5ปีใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นก็ต้องเพิ่มการให้บริการในคลินิกต่างๆเข้ามาเป็นการเสริม แต่ในการเบิกงบประมาณในราคาเดียวกันไม่มีระดับสูงต่ำ เพราะหากไม่เท่ากันจะต้องมีการแก้ปัญหาเรื่องเคลียริ่งเฮาส์เงินอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันสธ.ก็ต้องคิดด้วยถ้าจะมีการดูแลผู้ป่วยเฉพาะในทุกเขตราว 200 เตียงโดยมอบให้โพลีคลินิกรอบนอกบริการได้หรือไม่เป็นส่วนของการบริหาร” นายสมศักดิ์กล่าว 

ปัดตอบลดงบผู้ป่วยนอก รพ.ใหญ่  

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่างบฯค่าผู้ป่วยนอกของรพ.จะลดลง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีคนป่วยมาก มีคนใช้บริการมาก ก็พยายามทำให้สมดุลกับคนที่ต้องการใช้บริการ รักษาอะไรที่อยากให้เติมเต็มก็จะเติมเต็ม

ถามต่อว่าการลดค่าผู้ป่วยนอกรพ.จะกระทบการเงินรพ.หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ไม่ได้ลดในส่วนของรพ.ทั่วไป รพ.เอกชน คลินิก ไม่ได้ลด แต่ในรพ.โรงเรียนแพทย์ มีหน่วยการคิดแตกต่างกัน กำลังขอร้องให้กำหนดอัตราจ่ายให้เท่ากัน กำลังดำเนินการ

ย้ำว่าจะกระทบการเงินรพ.โรงเรียนแพทย์หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  ไม่กระทบ  จากที่ตนได้ถามผู้รู้ บอกว่า โรงเรียนแพทย์ต้องเอาเคสการรักษาทั้งหมด เพื่อเอาเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาต่อด้วย จึงมีต้นทุนสูง  ตนจึงบอกว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ปัญหาของหน่วยบริการ ไม่ให้ระส่ำระส่าย แต่ส่วนของปฐมภูมิในรพ.ร.ร.แพทย์อาจจะน้อยลงก็ไม่เป็นปัญหา แต่ขั้นทุติยภูมิ ตติยภูมิก็เดินหน้าต่อได้ ไม่ได้ไปลด

ถามว่าในปีงบประมาณ 2568 มีการตั้งงบฯเฉพาะสำหรับจ่ายหน่วยบริการนวัตกรรมหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็มีอยู่บ้าง และบางส่วนเป็นงบฯโรคเฉพาะเตรียมไว้ดำเนินการอยู่แล้ว

ตั้งอนุกรรมการฯ บริหารงบ 30 บาทรักษาทุกที่  

ถามถึงการตั้งอนุกรรมการมาตรวจสอบงบฯบัตรทอง 30 บาท นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นการตั้งเพื่อตรวจสอบการบริหารให้มีความคล่องตัว ถูกต้อง ทั่วถึง  ไม่ใช่งบฯสูงเฉพาะบางกลุ่ม บางโรคเท่านั้น

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัยให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม จึงจัดโครงการยกระดับบริการสุขภาพสู่ประชาชน  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อเพิ่มการรับรู้ต่อบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง  โดยวันนี้ มีการประเมินและตรวจเพื่อสุขภาพผิวที่ดี การสร้างสุข ประเมินใจ ด้วย Biofeedback บริการนวดแผนไทยและการใช้ยาสมุนไพร ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เวชศาสตร์วิถีชีวิต ปรับพฤติกรรม ลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และบริการตรวจสุขภาพช่องปาก/ขูดหินปูน โดยมีบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประชาชน จ.นนทบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เข้ารับบริการกว่า 500 คน