กรุงเทพมหานครจับมือ สปสช.ชวนประชากรแฝงกว่า 7 แสนรายลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ใน กทม. เตรียมคลินิกชุมชนอบอุ่น 276 แห่งรองรับ โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งทั้ง 50 เขตเป็นหน่วยบริการประจำ พร้อมจับมือรพ.เอกชน เพิ่มทางเลือกใหม่กรณีต้องส่งต่อรักษา หากโรงพยาบาลในระบบเตียงเต็มหรือการรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่เคยต้องรอคิวนาน สายด่วน 1330 จะประสานส่งต่อไปยัง รพ.เอกชนที่เข้าร่วมเพื่อรักษารวดเร็วขึ้น ลดการรอคิว  

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีการแถลงข่าว “กรุงเทพมหานครจับมือ สปสช. ชวนประชากรแฝงกว่า 7 แสนรายลงทะเบียนสิทธิบัตรทองในกรุงเทพ พร้อมจับมือรพ.เอกชน รับส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม.เข้าถึงการรักษาสะดวก รวดเร็ว” 

ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลประจำตัวใกล้บ้านใกล้ที่ทำงานโดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้าน

รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่มีความสลับซับซ้อน และมีประชากรหนาแน่น รวมถึงประชากรแฝง การจัดระบบดูแลสุขภาพจึงต้องมีความจำเพาะพิเศษ ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร สปสช.และโรงพยาบาลเอกชนในวันนี้ จะช่วยทำให้ประชากรแฝงกว่า 7 แสนรายที่เข้ามาทำงานหรือมาเรียนและพักอาศัยใน กทม.ได้ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลใกล้ที่ทำงาน ที่เรียน หรือตรงตามที่พักอาศัย เพื่อได้รับการรักษาใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งต้องขอบคุณทาง สปสช.ที่ได้จัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการ และขอบคุณโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อดูแลประชาชนในพื้นที่ กทม. ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ทางสำนักอนามัยได้เตรียมความพร้อมศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งทั้ง 50 เขตทำหน้าที่เป็น Area Manager ผู้จัดระบบบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ 

รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาภายใต้นโยบายผู้ว่าฯ กทม. ได้จัดทำนโยบายด้านการรักษา พยาบาล 9 ข้อ เพื่อยกระดับบริการสุขภาพให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง (Home ward), หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine, Mobile Medical Unit รถตรวจสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดีผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อด้วยการบูรณาการข้อมูล เป็นต้น ทั้งนี้ ด้วยนโยบายและสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพตามนโยบายให้บรรลุผลสำเร็จได้ 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร ได้ประชุมร่วมกับกรุงเทพ     มหานคร เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. โดยมีประเด็นสำคัญคือการให้ประชากรแฝงประมาณ 7 แสนคนที่เข้ามาทำงานหรือมาเรียนและอยู่อาศัยใน กทม. แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมา ได้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. ซึ่ง สปสช.จะร่วมกับกรุงเทพมหานคร ดำเนินการให้ทุกคนได้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการประจำใน กทม.ที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน ที่เรียน หรือที่พักอาศัย โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้าน เมื่อเจ็บป่วยก็เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนเลือกไว้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายและสะดวกขึ้น

โดย สปสช.ได้จัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการรองรับประชากลุ่มนี้ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นเกือบ 300 แห่งให้เลือกเป็นหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลปฐมภูมิและมีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งทั้ง 50 เขตโดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยบริการประจำของท่าน เมื่อเกินศักยภาพจะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรับส่งต่อ 

 

สปสช.และกรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบมาร่วมเป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช.และกรุงเทพมหานคร ยังได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบมาร่วมเป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ ซึ่งเป็นไปตามตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยที่มีเหตุสมควร เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอื่นได้ โดยบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการ จะขึ้นรายชื่อหน่วยบริการรับส่งต่อว่า สายด่วน 1330 ประสานส่งต่อ ซึ่งกรณีนี้หมายความว่าเมื่อท่านเจ็บป่วยแล้วไปรักษาที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ/ประจำที่ลงทะเบียนเลือกไว้ กรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อไปรักษา หรือ ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน เนื่องจากเกินศักยภาพของสถานพยาบาลปฐมภูมิ/ประจำ เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อเป็นผู้ประสานการส่งต่อกับสถานพยาบาลให้ ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมแล้ว 17 แห่ง ทำให้ขยายจำนวนเตียงสำรองเพิ่มถึง 572 เตียง 

ทั้งนี้ สปสช.ขอเชิญประชากรแฝงกว่า 7 แสนรายที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ กทม.แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมา สามารถลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลประจำตัวใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หรือใกล้สถานศึกษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายทะเบียนบ้านมา เพียงใช้หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 1.หนังสือรับรองของเจ้าของบ้าน หรือ 2.หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน หรือ 3.หนังสือรับรองผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง หรือ 4. เอกสารหรือหลักฐานที่มีชื่อของผู้ประสงค์ลงทะเบียน เช่น ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่พัก สัญญาเช่าที่พัก ฯลฯ หรือ 5.ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนทำหนังสือรับรองตนเองได้ 

โดยลงทะเบียนได้ง่ายๆ ผ่าน 3 ช่องทาง 1.แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ 2.ไลน์ OA สปสช. (พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso ในช่องเพิ่มเพื่อน) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง หรือติดต่อด้วยตนเอง ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ในวันเวลาราชการ หากไม่สะดวกสามารถ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน