ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย เสริมกระโดดเชือกลดเนือยนิ่ง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายเสริมเด็กและเยาวชนไทยให้มีความรอบรู้ ด้านสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เสริมการกระโดดเชือกเพื่อให้มีกิจกรรมทางกายเพียงพออย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน  

"กรมอนามัย เสริมกระโดดเชือกลดเนือยนิ่ง"

วันนี้ (22 มิถุนายน 2566) นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการเป็นประธานพิธีเปิดตัว (Kick off) การขับเคลื่อนงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยการกระโดดเชือก ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า ผลการสํารวจระดับกิจกรรมทางกายในประชากรไทย พบว่า เด็กและเยาวชน มีกิจกรรมทางกายเพียงพอต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่ร้อยละ 16.1 มีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง ร่วมกับการบริโภคอาหารเกินความต้องการและนอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลให้ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน รวมถึงภาวะเตี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เด็กไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กรมอนามัยให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนให้มีทักษะการดำเนินชีวิตตามช่วงวัย ทั้งทักษะการเรียนรู้ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และสังคม การสร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย จึงนำการกระโดดเชือกเข้ามาส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายควบคู่กับการรับประทานอาหารและการนอนหลับที่เหมาะสมและเพียงพอ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง เก่ง ดี มีทักษะ มีความคิดดี ความรู้ดี ก้าวสู่การเป็นเยาวชนที่ดีมีคุณภาพ 

ด้าน นพ.อุดม อัศวุฒมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ จากรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่งผลให้การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลง การกระโดดเชือกจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและเพียงพอ คือ มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก จนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อย 60 นาที ทุกวัน โดยสะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป ช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง มีภูมิต้านทานในยุคใหม่อย่างสมดุล

"กรมอนามัย เสริมกระโดดเชือกลดเนือยนิ่ง"

"ที่สำคัญ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพลศึกษา กรมประชาสัมพันธ์ มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายเหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้งสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมทางกายด้วยการกระโดดเชือกให้แก่เด็กและเยาวชน สร้างการรับรู้และทัศนคติที่ดีต่อการกระโดดเชือกให้กับผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กไทยเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ สูงดี สมส่วน แข็งแรง ฉลาด เป็นเยาวชนที่ดี มีคุณภาพต่อไป" ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าว

ขณะที่ นพ.มนัส รามเกียรติศักดิ์  ผู้อำนวยการกองอนามัยวัยเรียนวัยรุ่น กรมอนามัย กล่าวในการอภิปราย เรื่อง หนึ่งโรงเรียน หนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยเป็นเลิศ ว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายให้เด็กไทยสุขภาพดีและมีทักษะที่สำคัญ โครงการนี้มีการฝึกอบรมครู 2,369 คนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้ครูอนามัยรับผิดชอบสุขภาพอนามัย รวมถึงโภชนาการในโรงเรียน ฝึกทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อไปต่อยอดให้เด็กมีทักษะที่สำคัญ 

  • เป้าหมายเชิงปริมาณ ให้ครูอนามัยโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 2,369 คน เป็นโค้ชในการดูแลสุขภาพของนักเรียน
  • เป้าหมายเชิงคุณภาพ ให้ครูอนามัยโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา สามารถถ่ายทอดความรู้ เสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพด้านสาธารณสุข ขยายผลสู่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษา 2566 จำนวน 1 ล้านคน

การอบรมภาคทฤษฎีในรูปแบบ Online ผ่าน OBEC Channel หลักสูตรมีจำนวน 6 Modules ประกอบด้วย

  1. ทักษะชีวิต
  2. ทักษะสังคม
  3. ทักษะสุขภาพ
  4. ทักษะการจัดการสภาพแวดล้อม
  5. ทักษะเท่าทันด้านเทคโนโลยี
  6. ทักษะการจัดการงานอนามัยโรงเรียน

การอบรมภาคปฏิบัติซึ่งจัดให้ฝึกปฏิบัติจริงในรูปแบบ On Site การอบรมแบ่งเป็น 4 ฐาน ประกอบด้วย

  • นาทีชีวิต...!!! CPR : ช่วยคนจมน้ำ ไฟฟ้าช็อต อุบัติเหตุ
  • รอบรู้สุขภาพใจห่างไกลสารเสพติด
  • คัดกรองการได้ยิน วัดสายตา ซีด & HPV
  • ใส่ใจตรวจเต้านม

"กรมอนามัย เสริมกระโดดเชือกลดเนือยนิ่ง"

"การ CPR ให้เป็นจะช่วยชีวิตคนได้ เมื่อพบคนที่ประสบอุบัติเหตุ จึงอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้วิธีช่วยชีวิตที่ถูกต้อง รวมถึงการใช้อุปกรณ์ปฐมพยาบาลฟื้นคืนชีพผู้ป่วยหัวใจหยุดต้นฉับพลัน ด้วยเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) เพราะมีอุปกรณ์ติดอยู่ในหลายสถานที่ แต่คนไม่กล้าใช้ เพราะไม่มีความรู้ว่าจะทำอย่างไร นอกจากนี้ เรื่องสุขภาพจิตก็สำคัญ สภาพจิตใจของเด็ก ความเครียดที่เกิดขึ้น อาจทำให้เด็กบางคนหันหายาเสพติด จึงต้องมีฐานที่ชื่อว่า รอบรู้สุขภาพใจห่างไกลสารเสพติด เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพจิต ลดปัญหาการฆ่าตัวตาย ให้เด็กมีที่ระบาย มีทางออกในชีวิต" นพ.มนัส กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : พฤติกรรมเนือยนิ่ง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง