ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“แพทองธาร” เป็นประธานประชุมครม.นัดสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 โดยเห็นชอบตามข้อเสนอ กระทรวงสาธารณสุข โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  เสนอขอรับการสนับสนุนงบกลางจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด19 งบประมาณกว่า 3,800 ล้านบาท ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานช่วงโควิดระบาดหนัก! ถือเป็นการจ่ายเงินเสี่ยงภัยโควิดรอบสอง หลังจ่ายก่อนหน้านี้อนุมัติและเบิกจ่ายรอบแล้วไปแล้ว

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 วันที่ 24 กันยายนนี้ แวดวงสาธารณสุข ต่างจับตามองสำหรับการพิจารณาอนุมัติงบกลาง กรณีเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานช่วงระบาดโควิดที่ผ่านมา ซึ่งวงเงินเสนอของบครั้งนี้รวมกว่า 3.8 พันล้านบาท ในการจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานคงค้างตั้งแต่ครึ่งหลังเดือนมิถุนายน - กันยายน 2565 และอาจมีบางส่วนที่ยังไม่ได้งบประมาณ หรือตกหล่นในช่วงเดือนตุลาคม 2564 จนถึงครึ่งเดือนแรกมิถุนายน 2565 เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการประชุมครม.วันนี้(24 ก.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมครม. โดยวาระที่เสนอเข้ามามีหลายประเด็นจากหลายกระทรวง โดยเฉพาะการอนุมัติงบประมาณต่างๆ รวมถึงของ กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวนป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมครม.วันนี้(24 ก.ย.67) ได้พิจารณาอนุมัติเห็นชอบตามข้อเสนอของ กระทรวงสาธารณสุข ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลาง กรณีค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขตามเงื่อนไขกำหนดแล้ว วงเงิน 3,849.30 ล้านบาท

รายละเอียดงบค่าเสี่ยงภัยโควิด19

สำหรับการประชุมครม.วันนี้(24 ก.ย.) ได้มีการสรุปการประชุมวาระต่างๆ  โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในข้อ 5 เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงาน  เฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)

                     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,849.30 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID - 19) ค้างจ่าย ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนอกสังกัด สธ. ที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - เดือนกันยายน 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
                    สาระสำคัญ
                     สำนักงบประมาณ (สงป.) ได้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ สธ. และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,849.30 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วย COVID – 19 ค้างจ่ายของหน่วยงานในและนอกสังกัด สธ. ที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - เดือนกันยายน 2565
                     โดยก่อนที่จะเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ คุ้มค่า โดยคำนึงขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งประโยชน์สูงสุดของทางราชการเป็นสำคัญ ตลอดจนสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และขอให้หน่วยงานในสังกัด สธ. และหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องจัดทำการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงประมาณ เพื่อขอทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ทางกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมดำเนินการเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ทำไทม์ไลน์ไว้ว่า หากครม.มีมติอนุมัติงบกลางในวันที่ 24 กันยายน  จากนั้น วันที่ 25-27 กันยายน  สำนักงบประมาณฯ อนุมัติงวดเงินจัดสรร และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ป.สธ.) แจ้งจัดสรรงบประมาณให้สสจ.ทุกแห่งเบิกจ่าย

“โดยสสจ.ทุกแห่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 27-30 กันยายน 2567”

ส่วนรายละเอียดจะมีการติดตามในส่วนการดำเนินงานของ กระทรวงสาธารณสุข ให้ทราบต่อไป...