ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. - ธกส. ลุย จ.เชียงราย เยี่ยมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ ในพื้นที่ ห่วงจากสถานการณ์น้ำท่วม เผยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ ได้รับผลกระทบประมาณ 20 ราย ใน อ.เมือง และ อ.แม่สาย ทั้งผู้ป่วยฟอกไตและล้างไตผ่านช่องท้อง ล่าสุดได้รับการช่วยเหลือแล้ว ประสานการดูแลโดยทีม รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์และหน่วยงานพื้นที่    

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567  ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.ปัญจพล กอบพึ่งตน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรแพทย์ด้านโรคไต และประธานservice plan สาขาโรคไต จังหวัดเชียงราย และ นางกชปภัทร บุญเทียมทัด ผู้อำนวยการฝ่ายเงินฝาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ร่วมลงพื้นที่ ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ และให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ โดยมีทีมพยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคไตของ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ร่วมลงพื้นที่  

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเปราะบาง เนื่องด้วยต้องทำการล้างไตหรือฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันอย่างที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปดูแลให้การช่วยเหลือโดยเร็ว ซึ่งจากการลงพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำกก พบว่าสภาพบ้านของผู้ป่วยโรคไตหลายราย ถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา บางหลังก็จมอยู่ในโคลนหรือถูกกระแสน้ำพัดพาไป ไม่เพียงแต่ทรัพย์สินที่สูญหายไปเท่านั้น แต่รวมถึงน้ำยาล้างไตก็จมหายไปด้วย อย่างไรก็ดี ด้วยความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ตลอดส่วนกลาง สามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดยในส่วนการดูแลผู้ป่วยล้างไตทาง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ได้จัดทีมเข้าให้การดูแลได้โดยเร็ว พร้อมจัดส่งน้ำยาล้างไตทดแทนที่สูญหาย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการล้างไตตามระยะเวลาและไม่พบการติดเชื้อ  

 

“เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมทุกครั้ง สปสช. เป็นห่วงผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบ โดยผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการล้างไตหรือฟอกไตตามระยะเวลา ก็อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมไม่ว่าจังหวัดใด ทาง สปสช. ก็จะนำทีมลงมาเยี่ยมดูผู้ป่วยทันที” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

 

ด้าน นพ.ปัญจพล กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.เชียงราย มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่บำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียมประมาณ 2,200 ราย และผู้ป่วยที่ล้างไตทางหน้าท้องอีกประมาณ 600 ราย จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้มีผู้ป่วยใน อ.เมือง ได้รับผลกระทบประมาณ 10 ราย และที่ อ.แม่สาย อีกประมาณ 10 ราย อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการบริหารจัดการจนปลอดภัยดีทุกราย ทั้งนี้ผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เกิดขึ้น มีหลากหลาย ซึ่งผลกระทบทางตรง เช่น ไม่สามารถออกจากบ้านได้มี 4-5 รายที่ต้องประสานกู้ภัยไปรับตัวออกมา ส่วนผู้ป่วยฟอกไตก็มีปัญหาน้ำปะปาถูกตัดหรือถนนขาด นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่ยาหรือน้ำยาล้างไตลอยไปกับสายน้ำ ก็ได้ทีมจากสมาคมเพื่อนโรคไตช่วยเอาน้ำยาไปส่งให้ แต่โดยรวมแล้วสามารถจัดการได้จนสถานการณ์คงที่และผู้ป่วยปลอดภัยดี

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้อง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ได้ประสานไปทางชุมชน รวมทั้งอีกบางส่วนที่โทรติดตามเอง เพื่อติดตามสถานะสุขภาพ โดยสามารถติดตามได้ทั้งหมด และในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บ้านน้ำท่วมหนัก หรือย้ายหนีน้ำไปอยู่ในศูนย์พักพิง ที่เสี่ยงติดเชื้อสูง จะมีทีมพยาบาลคอยติดตามประเมินผลเป็นการเฉพาะ โดยจะโทรสอบถามสถานการณ์เป็นระยะๆ ขณะที่ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ ทางโรงพยาบาลฯ ได้เตรียมรับสถานการณ์ไว้อยู่แล้ว โดยมีการฝึกสอนให้สลับมาทำ CAPD ได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดทดแทนไตอย่างต่อเนื่อง

นพ.ปัญจพล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ในส่วนของ อ.เมือง และ อ.แม่สาย สถานการณ์จะเริ่มคงที่และไม่มีผู้ป่วยได้รับอันตรายแล้ว แต่ขณะนี้ยังมีสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า และ อ.แม่สรวย ซึ่งทั้ง 2 อำเภอนี้ก็มีผู้ป่วยโรคไตเช่นกัน โดยโรงพยาบาลอยู่ระหว่างเฝ้าระวังแต่เบื้องต้นจากการสอบถามในพื้นที่ยังไม่มีผู้ป่วยได้รับผลกระทบโดยตรง
    
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทางคณะฯ ได้เยี่ยม นางสาวกรรณิกา กันทะเนตร ผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องมาแล้ว 4 ปี โดยเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในครั้งนี้อย่างหนัก เนื่องจากบ้านชั้นเดียวถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคา ข้าวของในบ้านสียหายทั้งหมด รวมถึงน้ำยาล้างไตด้วย อย่างไรก็ตามเบื้องต้นได้พักพิงอยู่กับเพื่อนบ้านเป็นการชั่วคราวก่อน และทาง รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ได้จัดส่งน้ำยาล้างไตให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

นอกจากนี้ยังได้เข้าเยี่ยม นายสอง จันทิมา ชาวบ้านใหม่ขัวแดง ต.แม่ข้าวต้ม อายุ 62 ผู้ป่วยล้างไตผ่านหน้าท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) ซึ่งเครื่อง APD ถูกน้ำท่วม ประกอบกับด้วยชุมชนถูกน้ำท่วม ทำให้ต้องมีการตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องเปลี่ยนมาทำการล้างไตด้วยผ่านหน้าท้องด้วยตนเอง (CAPD) โดยมีทีมแพทย์จาก รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์มาช่วยดูแล