ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

MOU หนุนงานวิจัย-ประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ

ผสานพลัง 5 หน่วยงาน สนับสนุนการวิจัยและประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ในระยะพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย เพื่อการวิจัยไม่สูญเปล่า ช่วยให้เกิดผลสำเร็จ นำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program Foundation: HITAP Foundation) ร่วมกับสํานักวิชาสาธารณสขุศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (Saw Swee Hock School of Public Health, National University of Singapore) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “วิจัยไม่สูญเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า” พร้อมจับมือหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์  (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วย ความร่วมมือด้านการจัดลําดับความสําคัญและการประเมินเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพในประเทศไทย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และนักพัฒนานวัตกรรมจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงาน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ 

ด้วยเล็งเห็นถึงความสําคัญของ early HTA มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพและสํานักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จึงได้ผสานพลังกับ สกสว. TCELS และ สปสช. ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนําของไทยในด้านนวัตกรรม การวิจัยและประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อริเริ่มความร่วมมือในด้าน early HTA ในประเทศไทย และได้จัดพิธีลงนามฯ ในครั้งนี้ เพื่อประกาศจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของความร่วมมือของทั้ง 5 หน่วยงาน ในช่วงพิธีลงนามฯ ผู้แทนจากแต่ละหน่วยงานภาคีได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อํานวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะ ตลอดจนสนับสนุนการนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและ ยั่งยืน  

"ครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในเรื่องของ HTA ให้มีระบบการประเมินเรื่องของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ที่ผ่านมา เวลาลงทุนด้านการวิจัยจะเกิดขึ้นเมื่อวิจัยเสร็จ แล้วจึงประเมินว่างานวิจัยนั้นสำเร็จหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งช้าไปแล้ว เพราะลงทุนไปแล้ว ครั้งนี้เป็นการพัฒนาเชิงระบบในการทำให้เกิดเครื่องมือและระบบในการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพก่อนที่จะมีการลงทุนจริง ประเมินล่วงหน้าว่า คุ้มค่าหรือไม่ จากนั้นก็ลงทุนตาม วิธีนี้จะทำให้การลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณ เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับความก้าวหน้าด้านนี้ ประเทศไทยมีหน่วยงานชื่อว่า HITAP ทำเรื่องนี้มานานพอสมควรและได้รับการยอมรับ ประเทศสิงคโปร์เองก็สนใจที่จะทำงานร่วมกับเรา มีนักวิจัย หัวหน้าโครงการของ HITAP ที่ทำงานกับเรื่องนี้ จึงเป็นโอกาสทำให้เกิดความร่วมมือ จับมือกันระหว่างประเทศไทยกับสิงคโปร์ นอกจากนี้ สปสช.ก็เป็นหน่วยงานที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเครื่องมือแพทย์สำหรับประชาชน จึงเป็นยูเซอร์ที่สำคัญสำหรับงานวิจัย อีกหน่วยงานหนึ่ง คือ TCELS ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย สำหรับ สกสว.เป็นร่มใหญ่ ดูแลเรื่องงบประมาณการวิจัยทั้งหมดของประเทศ ซึ่งระบบสุขภาพก็เป็นหนึ่งเรื่องในการลงทุนการวิจัย สกสว.ดูความคุ้มค่า ส่งงบประมาณให้ TCELS ทำงานต่อเรื่องเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ โดยมี HITAP เป็นหน่วยที่ช่วยทำวิจัย นำสู่ผู้ที่ใช้ประโยชน์ผ่านการดำเนินงานของ สปสช.ถือว่าเป็นการทำงานครบวงจร ภาคีเครือข่ายทั้ง 5 ในการลงนามในวันนี้" ดร.ปัทมาวดี กล่าว

ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อํานวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานในกํากับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) TCELS มีพันธกิจในการขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมถึงกระตุ้น และเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยครอบคลุม ตั้งแต่ด้านการวินิจฉัย การรักษา ไปจนถึงการป้องกันโรค อีกทั้งสนับสนุน และส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เชื่อมโยงสู่เชิงพาณิชย์ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม  และจากบทบาทของ TCELS ในการเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริม งานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในช่วงปลายน้ำ โดยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภณัฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ และผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ หรือ Research Utilization (RU) ความร่วมมือด้าน early HTA ในครั้งนี้จึงมีความสําคัญอย่างมาก 

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “วิจัย ไม่สญูเปล่า: พัฒนานวัตกรรมสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า” ดร.นพ.ยศ ตีระวฒันานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และ ผศ.ดร.หวัง อี้ (Wang Yi) อาจารย์ประจําสํานักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ซอว์สวีฮก มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สิงคโปร์ ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในประเด็นที่ว่า นวัตกรรมด้านสุขภาพต้องดีเพียงใดจึงจะเป็นที่ต้องการของผู้ใช้หรือสามารถขายได้ และทําอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่าควรลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนนั้นหรือไม่ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ “การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระยะพัฒนานวัตกรรม” หรือ early Heath Technology Assessment (early HTA) ให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชมุฯ 

ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า “early HTA เป็นงานวิจัยแขนงใหม่ที่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่เมื่อผู้พัฒนานวัตกรรมได้รู้จัก และเข้าใจแนวคิดเรื่อง early HTA แล้ว กว่าครึ่งสนใจ และมองว่าจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ เพราะ early HTA สามารถให้ข้อมูลและแนวทางได้ตั้งแต่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนาว่าจะต้องพัฒนานวัตกรรมให้ดีแค่ไหน ในด้านไหน เพื่อให้ตอบโจทย์ของตลาดหรือระบบหลักประกันสุขภาพ ข้อมูลนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสําเร็จของการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างชัดเจน ที่ผ่านมาประเทศไทย ยังไม่ประสบความสําเร็จในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เท่าที่ควร นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในประเทศจํานวนมากไม่ได้ถูกนําไปต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและจําหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยที่สําคัญคือการขาดการประเมินเทคโนโลยีในระยะพัฒนานวัตกรรม หรือ early HTA ซึ่งเป็นกระบวนการประเมินผลกระทบล่วงหน้าที่อาจเกิดขึ้น จากการนําเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเวชปฏิบัติหรือชีวิตประจําวันของประชาชน ภายใต้เงื่อนไขคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ 

ดร.นพ.ยศ กล่าวอีกว่า การประเมินที่ว่านี้จะทําให้ผู้ลงทุนและผู้พัฒนานวัตกรรมทราบเป้าหมายคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาขึ้น เพื่อให้เทคโนโลยีนนั้น ๆ เป็นที่ต้องการสูงสุดของตลาด  ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ใช้กลไกนี้ในการผลักดัน นวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบสุขภาพในระดับโลก เช่น กําหนดคุณสมบัติของเครื่องมือตรวจคัดกรอง ยาและวัคซีน สําหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งแต่ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด นํามาซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเหล่านั้น จนได้รับการอนุมัติจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือองค์กรใกล้เคียงในทุกประเทศทั่วโลก ทําให้สามารถควบคุมและลดความสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโรคได้ในเวลาอันรวดเร็ว 

"ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของ WHO ในการกําหนดคุณสมบัติของวัคซีนโควิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ก่อนที่จะมีวัคซีนออกสู่ท้องตลาดในปลายปี ผมได้เห็นประโยชน์ของการดําเนินงานในลักษณะนี้ จึงอยากนํามาประยุกต์เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทย โดยเทคโนโลยีที่ออกมา ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ จะมีการประเมิน 2 แบบ จากการประชุมครั้งนี้ การประเมินเพื่อที่จะเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ กับการประเมินเพื่อมาขายในท้องตลาด จากความต้องการให้คนไทยสามารถใช้ได้ตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ต้องมีการประเมินอีกอย่าง เป็นการประเมินเพื่อให้เบิกจ่ายได้ ซึ่งทำมานานแล้ว เน้นดูเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ ดูเรื่องความคุ้มค่า และเรื่องงบประมาณ เป็น 3 ประเด็นที่สำคัญ แต่จากการประเมินที่ทำในครั้งที่ผ่านมา เจอกับปัญหาว่า ยา เครื่องมือแพทย์ วัคซีน ไม่คุ้มค่า และไม่ควรเบิกจ่ายมากกว่าที่ให้เบิกจ่าย จึงเกิดปัญหาว่า ของที่พัฒนามานานเป็น 10-20 ปี สุดท้ายไม่ดีพอ จึงต้องช่วยพัฒนากันตั้งแต่วันแรก ถ้าต้องการทำให้ดีพอต้องทำอย่างไร เขียนสิ่งที่เป็นเป้าหมายและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ (Target Product Profile : TPP) สร้างเป็นแพลตฟอร์มวิจัยใหม่เพื่อช่วยผู้ที่พัฒนานวัตกรรมให้สามารถมีโอกาสได้รับการรับรองจาก องค์การอาหารและยา (อย.) และมีโอกาสที่ สปสช.จะให้เบิกจ่ายต่อไป โดยเริ่มให้เซอร์วิสแล้ว โดยดูตามรายผลิตภัณฑ์" ดร.นพ.ยศ กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง