บอร์ด สปสช. พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน รับฟังความคิดเห็น “โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย” สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้าน ผอ.รพ.พร้อมสนับสนุนส่งเสริมโครงการ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีการบดเคี้ยวและบุคลิกภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (บอร์ดสปสช.) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล  ผอ.สปสช.เขต 8 อุดรธานี และคณะ ลงเยี่ยมหน่วยบริการพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานรับฟังความคิดเห็น “โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย” สำหรับให้การรักษาฝังรากฟันเทียมแก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปาก ซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาลหนองคาย และหน่วยบริการเครือข่ายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ณ โรงพยาบาลหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย 

 
นพ.สุวิทย์ เปิดเผยว่า โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมอนามัย กรมการแพทย์ และมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลคนไทยทุกคนที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งจะนำร่องในระยะเวลา 2 ปี คือ พ.ศ. 2566-2567 ภายใต้เป้าหมาย 1. เพื่อให้คนไทยได้รับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ใน 76 จังหวัด จำนวน 72,000 ราย 2. เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีฟันทั้งช่องปากได้รับบริการฝังรากฟันเทียม รองรับฟันเทียมทั้งปากตามความจำเป็นใน 76 จังหวัด จำนวน 7,200 ราย  

ทั้งนี้ หากมีการประเมินออกผลมาแล้วมีผลลัทธ์ที่น่าพอใจ ช่วงต้นปี 2567 อาจมีการเริ่มพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการฝังรากฟันเทียมแบบเดี่ยว สำหรับผู้ที่มีสิทธิบัตรทองที่ไม่ได้สูญเสียฟันทั้งปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เสียฟันกราม ซึ่งเป็นฟันที่มีความสำคัญต่อการบดเคี้ยวอาหาร 

รากฟันเทียมที่ใช้ในการรักษาผ่านระบบบัตรทอง

 
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า รากฟันเทียมที่ใช้ในการรักษาผ่านระบบบัตรทองภายใต้โครงการนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากฝีมือของบริษัทไทย ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทย ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ราคาไม่แพง แต่มีคุณภาพมาก เพราะต้องผ่านการพิสูจน์จากทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 
 
ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมที่นำมาให้บริการเป็นรุ่น PRK ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ และผลิตโดยบริษัท มหาสวัสดิ์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเริ่มนำมาให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นมา ในปี 2566 นี้ มีกลุ่มเป้าหมายการให้บริการ 3,500 ราย  และปี 2567  อีกจำนวน 3,700 ราย 

เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์รากฟันเทียม

 
ทั้งนี้ สปสช. ได้เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์รากฟันเทียมเมื่อช่วงปี 2564 ทำให้ทางโรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายค่าบริการได้ เบื้องต้นโครงการนี้จะให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองก่อน เพื่อจัดระบบบริการทั้งบุคลากรและเครื่องมือ ก่อนจะขยายผลต่อไปกองทุนอื่นๆ ในอนาคต 
 
นพ.ชวมัย สืบนุการณ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย กล่าวว่า โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (2550-2554) (โครงการที่ 1)  จังหวัดหนองคาย ดำเนินการปักรากฟันเทียม จำนวน  71 ราย และ โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 (2555-2557) (โครงการที่ 2) ปักรากฟันเทียม จำนวน  23  ราย และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จึงขอรณรงค์ให้ผู้สูงอายุหรือประชาชนที่ไม่มีฟันทั้งปาก เข้าพบทันตแพทย์รักษาฝังรากฟันเทียมเพื่อแก้ปัญหาบดเคี้ยวอาหาร

 
 
“เราจะไม่ลืมหลักการของผู้สูงอายุที่ว่า ไม่ให้ท่านหกล้ม ไม่ทำให้ท่านหลงลืม ไม่ให้ท่านซึมเศร้า แต่ขอให้ท่านกินข้าวอร่อย เพราะฟันเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้ามีสุขภาพปากและช่องฟันที่ดีแข็งแรงก็สามารถนำไปสู่สุขภาพที่ดีทั้งระบบได้” นพ.ชวมัย กล่าว

ทพญ.นิรมล พงษ์ไทย ทันตแพทย์เฉพาะทางปริทันตวิทยา หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม  โรงพยาบาลหนองคาย กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานในการค้นหาคนไข้จากผลงานฟันเทียมโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดหนองคาย ขณะนี้มีรายชื่อคนไข้ที่ใส่ฟันเทียมทั้งปาก  60 ราย  โดยได้ทยอยนัดหมายตรวจเช็กฟันปลอมและถ่ายภาพรังสี เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการปักรากฟันเทียม 

สำหรับปัญหาที่พบคือ คนไข้กลัวการผ่าตัด ปฏิเสธการรักษา ซึ่งจะแก้ปัญหาโดยเพิ่มการประชาสัมพันธ์ อธิบายให้เข้าใจและขึ้นทะเบียนการรักษา อีกปัญหาคือ ปัจจุบันยังมีการจัดบริการรองรับเฉพาะสิทธิบัตรทอง ไม่รองรับสิทธิจ่ายตรงและประกันสังคม ซึ่งขณะนี้มีคนไข้จำนวน 2 ราย เป็นสิทธิจ่ายตรง หาก สปสช. ขยายสิทธิ์ให้กลุ่มนี้ทำได้ก็จะสามารถดำเนินการรักษาทันที   

โรงพยาบาลชุมชนขาดการอบรมเรื่องการฝังรากฟันเทียม

นอกจากนี้ยังพบปัญหา โรงพยาบาลชุมชนขาดการอบรมเรื่องการฝังรากฟันเทียม และไม่มีเซตเครื่องมือผ่าตัดสนับสนุน แต่ได้มีการเสนอแนะวิธีแก้ปัญหา โดยให้มีการฝึกลงมือปฏิบัติภายในเขตสุขภาพ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมคาดว่ายังสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  

นางเมตตา กชพันธ์ อายุ 79 ปี ผู้เข้าร่วมโครงการรากฟันเทียม โครงการที่ 1 ได้มีการเริ่มการรักษาเมื่อ 26 มกราคม 2554  และมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากๆ ตั้งแต่ที่ทำฟันมาประมาณ 10 กว่าปี ฟันเทียมและรากฟันสามารถใช้งานได้ดี หลังจากที่ทำมาก็สามารถพูด ยิ้ม หัวเราะได้อย่างมั่นใจ และไม่ต้องกลัวฟันปลอมจะหลุดออกจากปากเหมือนกับตอนที่ใส่ฟันปลอมแบบเก่า แถมยังสามารถเคี้ยวข้าวได้มากขึ้น กินข้าวได้อร่อยขึ้น แตกต่างจากตอนที่ไม่มีฟันที่จะเคี้ยวอะไรไม่ค่อยได้ส่งผลทำให้ร่างกายซูบผอมไม่แข็งแรง