ประธานสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย เผยสถานการณ์บุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากรัฐ ไม่ใช่แค่ “แพทย์” ยังรวมไปถึง “พยาบาล-เภสัชกร” และวิชาชีพอื่นๆ เหตุ 3 ปัจจัย ย้ำมีการหารือร่วม สธ.ตั้งแต่ต้นปี 2566 แต่ต้องพิจารณาบ่อยครั้ง มีหลายส่วน ทั้งการบริหารงบฯ กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ภาระงาน
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย หรือยูฮอสเน็ต (UHOSNET) กล่าวว่า สถานการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากระบบราชการเป็นเรื่องจริง และไม่ได้เป็นแค่วิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง พยาบาล และ เภสัชกร ก็มีการลาออกเช่นกัน โดยพบมากในบุคลากรที่ทำงานในระบบราชการ ในต่างจังหวัด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานาน และปัญหาเริ่มสะท้อนชัดเจนมากขึ้นจาก 3 ปัจจัยได้แก่
1 .จากภาระงานที่มากขึ้น 2. ทัศนคติของบุคลากรรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องค่าตอบแทน ค่าครองชีพที่อาจไม่สอดคล้องกับในสภาวะการณ์ปัจจุบัน โอกาสการศึกษาต่อ เพื่อพัฒนา รวมถึงการฟ้องร้อง เพราะรักษาคนไข้ในปัจจุบันก็ไม่เหมือนในอดีต และ 3. หลังสถานการณ์โควิด ความต้องการบุคคลากรในภาคเอกชน หรือ ต่างประเทศ มีมากขึ้น ทำให้ส่วนนี้ คนจึงออกนอกระบบ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องบุคลากรลาออก เคยมีการหารือมาแล้วเมื่อต้นปี 2566 ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แต่เรื่องเหล่านี้ยังต้องมีการหารือกันบ่อยครั้ง และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ ในการบริหารจัดการงบประมาณใน กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ภาระการทำงานของแพทย์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เงินบำรุงลดลง ส่งผลให้รพ.หลายแห่งบริหารงบประมาณด้วยสภาพตัวแดง ขาดทุน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เพียงพอเพื่อพัฒนาระบบ ทั้งนี้รพ.หลายแห่ง ยังเป็นระบบ manual งานบางประเภท หรือ บางอย่างควรนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ระบบสารสนเทศภายในรพ. การใช้หุ่นยนต์จัดยา เพื่อลดต้นทุน
- 1244 views