ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ชี้กรณี “กัญชาและบุหรี่ไฟฟ้า” ในกลุ่มกุมารแพทย์ไม่เห็นด้วยทั้งคู่ แต่หนุนกัญชาทางการแพทย์ เพราะบรรเทาอาการปวด ส่วนบุหรี่ไฟฟ้า มีสารนิโคตินอันตราย จะให้เป็นเสรีภาพทางการตลาดไม่ได้
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลง MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยหนึ่งในเนื้อหาสำคัญคือ การเตรียมเดินหน้าให้ “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติด ความจริงแล้วทั้งๆ เรื่องกัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มกุมารแพทย์ไม่ได้เห็นด้วยทั้งคู่ ที่ผ่านมาเห็นด้วยกับเรื่องกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาบรรเทาอาการปวด แต่รัฐบาลเก่า หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วงนั้นแม้บอกว่าทางการแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติ กลับมีเรื่องอื่นมาด้วย ทำให้มีการกำหนดค่า THC ที่ออกมา ก็เพื่อสนับสนุนในรูปแบบผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือแม้แต่ขนมที่มีการผสมกัญชา หรือ ร้านกัญชา เกิดขึ้น แต่การออกกฎหมายมาบังคับใช้ก็สับสนไม่ชัดเจน เช่น ห้ามหญิงตั้งครรภ์ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือ รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ทำไมไม่ห้ามแบบเด็ดขาดไปเลย ว่า ห้ามมีส่วนผสมของกัญชาในอาหารปรุงเองในแบบครัวเรือน หรือ ร้านอาหาร เพราะในความเป็นจริงอาหารแบบนี้ควบคุมได้ยาก ไม่เหมือนการควบคุมอาหาร ในเชิงอุตสาหกรรม มีแบรนด์ ที่ต้องกำหนดสัดส่วนชัดเจน และจำหน่ายภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ทั้งนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าธุรกิจ มีความยืดหยุ่น และผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ การปลูกกัญชาเพื่อทางการแพทย์ ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เพราะยาระงับปวดจากการกัญชาให้ผลดี กรณีอย่างการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก
ไม่เห็นด้วยเสรีภาพทางการตลาด “บุหรี่ไฟฟ้า”
ส่วนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ขอย้ำว่า มีสารนิโคติน เป็นอันตราย ใครๆก็เข้าใจกันมานานแต่ทุกวันนี้มีการลักลอบจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่าย สารพิษจากบุหรี่ ไม่ได้มีส่วนไหนเป็นประโยชน์กับร่างกายเลย ไม่ว่าจะมาใช้ในเด็กหรือผู้ใหญ่ การทำการตลาดของบุหรี่ ก็มีความเปลี่ยนแปลง โดยใช้ข้อมูล และข้อจำกัดเรื่องเสรีภาพทางการตลาดเข้ามา ตรงนี้ไม่ถูกต้อง จะมาให้ผู้บริโภคเลือกว่า จะเลือกใช้บุหรี่แบบไหน เพราะสิ่งที่ใช้ไม่มีประโยชน์ และอันตรายทั้งคู่ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องเสรีภาพของผู้ซื้อ
- 276 views