ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ย้ำ "ไม่เอากัญชากลับยาเสพติด" ติดตามประชุมบอร์ดควบคุมยาเสพติดพรุ่งนี้ (5 ก.ค.) พร้อมเคลื่อนไหวต่อเนื่อง  7 ก.ค. หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก่อนชุมนุมใหญ่ 8 ก.ค. อ.ปานเทพ ชี้ปัญหาจิตเวชเพิ่ม ไม่เกี่ยวปลดล็อคกัญชา  แนะใช้ พรบ.กัญชา แล้วออกบทลงโทษหากขายให้เยาวชน ดีกว่าคุมโดยกฎหมายยาเสพติด ด้าน "ศุภชัย" เผยความเจ็บปวดร่างกฎหมายกัญชา "สะอื้นในวันสุดท้าย" ทำออกมาแต่ไม่ได้ใช้ 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์การกำหนดอนาคตกัญชาประเทศไทย โดยนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า เครือข่ายฯจะมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้เป็นการแสดงเจตนารมย์ของคนหลากหลายกลุ่ม ทำให้ประชาชนเห็นว่า กัญชาใช้ได้ในหลายมิติ กลุ่มคนเหล่านั้นที่ได้สัมผัสด้วยตนเอง ทั้งหมอ นักปลูก ผู้ป่วย ทุกคนที่มาในวันนี้ยืนยันว่า ต้องการให้กัญชาควบคุมโดย พรบ.หรือใช้กฎหมายปกติ 

"วันนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณต่อรัฐบาลว่า ประชาชนไม่ยอมให้รัฐบาลนำกัญชาไปผูกขาดกับนายทุน"

นายประสิทธิ์ชัย เพิ่มเติมว่า การเคลื่อนไหวต่อไปจะเกิดขึ้น ในวันที่ 7 กรกฎาคม หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นการจัดกิจกรรมนิทรรศการเรื่องกัญชาเพื่อให้คนได้เข้าใจ และในวันที่ 8 กรกฎาคม จะรวมตัวกันที่หน้าสํานักงานสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ในเวลา 13.00 น. ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทำการชุมนุมอย่างยืดเยื้อ ต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลจะยินยอมในการควบคุมโดย พรบ.กัญชา ไม่เอากัญชาเป็นยาเสพติด

 

ติดตามประชุมบอร์ดควบคุมยาเสพติด 5 ก.ค.

"ในวันที่ 8 กรกฎาคมจะเป็นการรวมตัวกันครั้งสำคัญของคนที่เกี่ยวข้องกับกัญชา จุดยืน คือ ต้องใช้ พ.ร.บ. เพราะกฎหมายจะตอบสนองประชาชนในทุกมิติมากกว่า ส่วนการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดที่จะประชุมวันพรุ่งนี้ (วันที่ 5 กรกฎาคม) เครือข่ายจะติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีมตินำกลับไปเป็นยาเสพติด เชื่อว่า การชุมนุมครั้งใหญ่จะมีประชาชนหลั่งไหลมาจากทั่วประเทศ" นายประสิทธิ์ชัย กล่าว

 

 

จิตเวชไม่เกี่ยวกัญชา

ด้านอ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องกลับไปดูช่วงที่เคยทำมาแล้ว คือ กัญชาเป็นยาเสพติด ทั้งช่อดอกกัญชาและช่อดอกกัญชง แล้วอ้างว่าใช้ทางการแพทย์ได้ ในปี 2563-2564 ผลสำรวจ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ยืนยันว่า 84% ใช้นอกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ใช้นอกข้อบ่งใช้ และใช้อย่างผิดกฎหมายหรือใช้กัญชาใต้ดิน เพราะเข้าไม่ถึงทางการแพทย์ไม่ยอมให้กัญชา ด้วยระเบียบ วิธีการที่ยุ่งยาก ทำให้แพทย์ไม่อยากจ่ายกัญชา หากนำกลับไปเป็นยาเสพติด คนเหล่านี้จะกลายเป็นคนที่ผิดกฎหมาย ถูกจับกุม หรือถูกรีดไถ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้

อ.ปานเทพ กล่าวอีกว่า วิธีการนำเสนอปัญหาเรื่องจิตเวช ที่อ้างว่าช่วงปลดล็อคกัญชา ผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มมากขึ้นนั้นผิดพลาด ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า ผู้ป่วยจิตเวชหลังโควิดมีมากกว่า 10 ล้านคน นั้นเพิ่มขึ้นมาจากปัญหาโควิด-19 ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ หากจะบอกว่า เพราะกัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติดแล้วเกิดเรื่องนี้ ฟังไม่ขึ้นและไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง เป็นการเปรียบเทียบตัวเลขฐานที่ผิด เพราะในปี 2564 คนถูกล็อคดาวน์ ประชาชนออกจากบ้านไม่ได้ ไปหาหมอก็ไม่ได้ ยอดตัวเลขก็ต้องลดลงโดยธรรมชาติ ส่วนปี 2565-2566 มีการระบาดโควิดลดลง คนก็กลับมาเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น แล้วพบว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับบริการในปี 2566 ไม่ต่างจากปี 2561-2562 ผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้เพิ่มขึ้น เป็นปกติ แต่เปรียบเทียบผิดพลาด

"วรสารต่างประเทศยังพบว่า มลรัฐในสหรัฐที่ปลดล็อกกัญชา ยังลดการใช้ยา 10-17 เปอร์เซนต์ในกลุ่มยาหลายโรคที่สำคัญ เช่น โรคจิตเวช โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ จึงไม่แปลกที่ตัวเลขผู้ใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น น่าจะใช้เพื่อการรักษามากกว่า เพราะในต่างประเทศใช้กัญชา"

ส่วนการทำประชาพิจารณ์ก็ไม่มีเวทีเสวนาเพื่อหาความจริงจากฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลับใช้ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้กัญชามาเป็นเกณฑ์การตัดสิน ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ ตราบใดที่จะเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด อ้างว่าใช้ทางการแพทย์ได้ โดยหนทางที่ถูกต้อง ควรตราเป็น พรบ.กัญชา จะยืดหยุ่นกว่า ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันก็ออกกฎหมายหรือบทบัญญัติที่มีบทลงโทษในประเด็นที่อ่อนไหว เช่น บทลงโทษที่รุนแรงในการจำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชน หรือการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ทำลายนิเวศของกัญชา สามารถเพิ่มบทลงโทษได้ดีกว่ากฎหมายยาเสพติด

 

ศุภชัย สะอื้น ร่างกม.กัญชา แต่กลับไม่ได้ใช้

นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง แต่มองว่า ทำเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหน้าที่ ความเจ็บปวดที่ผ่านมา คือ ร่างกฎหมายที่ดีที่สุดออกมา แต่ถูกดึงเกมจนกฎหมายไม่ผ่าน ตนสะอื้นในวันสุดท้ายที่ทำกันมาเพื่อประชาชน