ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  เผยข้อมูลต่างชาติสรุปผลการศึกษาอาการทางจิตที่อาจเกิดจาก “กัญชา” ชี้ส่วนหนึ่งมีผลจากรหัสพันธุกรรมร่วมด้วย  ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น มีวัตถุประสงค์ที่ใช้เพื่อเฮฮา ปริมาณสารTHC ต้องเป็นจำนวนมากในครั้งเดียว

 

 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  อดีตหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ให้ข้อมูลถึง กลไกที่จะเกิดอาการทางจิตของกัญชา ว่า

 

อาการทางจิตประสาทที่เกิดเนื่องจากการใช้กัญชาเป็นที่ทราบทั่วกัน และจนกระทั่งเป็นหัวข้อของการประชุมระดับประเทศของนักวิทยาศาสตร์ทางสมองของสหรัฐ ร่วมกับหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด และ อย. ในปี 2016 จัดโดย New York Academy of Science และหลังจากนั้น มีการประมวลข้อมูลและหลักฐานรวมกระทั่งถึงการพิสูจน์เชื่อมโยงกลไกที่จะเกิดมีอาการทางจิต อันประกอบไปด้วย

บุคคลนั้น ๆ จะมีสภาวะเปราะบาง นั่นคือถูกกำหนดจากรหัสพันธุกรรม

นอกจากนั้นยังสามารถอธิบายได้จากผลกระทบจากจุดประสงค์ของการใช้เพื่อการเสพสนุกเฮฮาอย่างเดียวโดยใช้ปริมาณสูง

ในส่วนของรหัสพันธุกรรมนั้น ใช้ประโยชน์จากการที่มีการรวบรวมรหัสพันธุกรรมของคนเป็น 100,000 คนในช่วงเวลาเป็น 10 ปีที่ผ่านมาและในการศึกษารหัสพันธุกรรมนั้น

จะมีรายละเอียดของบุคคลแต่ละคนวิธีการดำเนินชีวิต ประวัติการเจ็บป่วย อาหารการกิน การใช้ยาต่างๆรวมกระทั่งถึงการสูบบุหรี่ดื่มสุรา ใช้สารเสพย์ติด และการใช้กัญชา เป็นต้น

 

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หลอมรวมกัน เป็น บิ๊กดาต้า  ในการเชื่อมโยงดัชนีชี้วัดทางสุขภาพ ทางพันธุกรรม เข้ากับการศึกษาเชิงสมอง  ในเรื่องของหน้าที่ ตำแหน่งที่แปรปรวน ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ รวมกระทั่งถึงภาพคอมพิวเตอร์สมองแบบพิเศษ เป็นต้น

 

ผลจากการศึกษาสามารถสรุปได้โดยสังเขปถึงอาการทางจิตที่เกิดเนื่องจากกัญชาจะประกอบไปด้วย

 

1-จะเกิดจากวัตถุประสงค์ที่ใช้เพื่อเฮฮา ดังนั้นปริมาณของการเสพ จะมีสารTHC เป็นจำนวนมากในครั้งเดียว

 

2- คนที่จะมีอาการทางจิตนั้นจะใช้เสพตามข้อ 1. และจะมีลักษณะถูกกำหนดโดยรหัสพันธุกรรมจำเพาะ

 

ก. โดยแบ่งออกเป็นเมื่อใช้แล้วจะถูกกำหนดให้ชอบและใช้บ่อยจนกระทั่งติด และเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในสมองเฉพาะส่วนและในจำนวนนี้เมื่อใช้ต่อจะเกิดมีอาการทางจิตขึ้น หลักฐานทางสมองและมีรหัสพันธุกรรมเหล่านี้ค้นพบตั้งแต่ปี 2018

 

ข.   สำหรับคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยแต่ใช้ครั้งแรกและเจอกับ THC ในปริมาณสูงมากถึง เช่น 10 มิลลิกรัมหรือมากกว่าในครั้งเดียวและเกิดมีอาการทางจิตวิปลาสเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากการที่มีรหัสพันธุกรรมที่หายากที่รายงานในปี 2019 ยีน AKT1

 

       ทั้งนี้อาการทางจิตนั้นจะหายไปเองโดยที่ไม่ต้องรักษาและถือเป็นข้อห้ามไม่ให้ใช้กัญชาแม้ว่าจะเป็นทางการแพทย์ก็ตามที่มี THC

      ยกเว้นเสียแต่ว่าใช้ CBD dominant กล่าวคือมีอัตราส่วนระหว่าง CBD :THC มากกว่า 20:1

 

ในภาวะเช่นโรคทางสมองบางชนิดที่ดื้อต่อ ยาปัจจุบันและใช้ CBD dominant ยังควบคุมอาการได้ไม่ดี เช่นโรคลมชักที่ดื้อยาอาจค่อยๆปรับเปลี่ยนเป็น CBD rich คือ อัตราส่วนอยู่ที่ 10:1

 

 

ทั้งนี้ คำว่า CBD นั้นจะไม่ใช่ CBD เดี่ยว ๆ ตัวเดียว แต่เป็น CBD และอนุพันธ์อื่น ๆ จึงทำให้ได้ผลโดยไม่ต้องใช้ CBD ปริมาณสูงตามตำราต่างประเทศในสมัยก่อนซึ่งขณะนี้มีการปรับเปลี่ยนกันหมดแล้ว

 

     ค. อาการทางจิตที่เกิดขึ้นหลังจากเสพโดยต้องการให้สนุกเฮฮา ตามข้อ 1. แต่เสพเกินเลยไปจนกระทั่งเมา (intoxication) จะมีอาการทางจิตได้สองแบบคือ

 

   ค.1 เป็นอาการที่ไม่ใช่อาการทางจิตจริง และเป็นความแปรปรวนของการรับภาพ แปลภาพที่เห็นและมิติของภาพที่เห็น ทำให้บิดโย้ หรือมีความกว้างยาวและลึกแปรปรวน รวมทั้งสีผิดเพี้ยนไป ซึ่งเป็นผลจากความแปรปรวนของก้านสมองส่วนบนไปสู่สมองส่วนท้ายทอยซึ่งรับและแปลภาพที่เห็น โดยหายไปเองเมื่อหายเมา

 

  ค.2 เป็นอาการทางจิตจริง เรียกว่าเป็น psychotic like experience และเกิดขึ้นจากการที่มีรหัสพันธุกรรมจำเพาะเช่นกัน แต่ต้องเสพกัญชาด้วยวัตถุประสงค์ ตามข้อหนึ่งและใช้บ่อยและจนกระทั่งเกิดวิปลาสชั่วขณะได้ และหายไปได้เอง รหัสพันธุกรรมดังกล่าวสามารถอธิบายได้ 69.2 ถึง 84.1% โดยมีการรายงานในปี 2018 (คนละรายงานจากข้างต้น)

 

ลักษณะตามข้อนี้จะมีลักษณะอาการทางจิตอยู่นานกว่าแม้ว่าจะหายเมาแล้วก็ตามโดยที่มีการทรงตัวเป็นปกติแล้วเป็นต้น ซึ่งในกรณีของข้อ ค.2 เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงแต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทางการแพทย์ให้ปฏิบัติตามข้อ ข.

 

อย่างไรก็ตามอาการติดกัญชา โดยที่จะมีอาการทางจิตหรือไม่มีก็ตาม สามารถหยุดกัญชาได้ทันทีโดยที่จะกลับเป็นปกติได้ในระยะเวลาประมาณ 28 วัน

 

ทั้งนี้อาจจะช่วยให้การติดนั้นดีขึ้นเร็ว ด้วยการใช้ CBD และอนุพันธ์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาโรคจิตหรือยาสงบ

ประสาทอื่น ๆ

 

ในกรณีที่ใช้ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ช่อดอกมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวันและใช้ในการประกอบอาหารนั้น ปริมาณของส่วนที่จะออกฤทธิ์ทางจิตประสาทนั้นมีปริมาณน้อยมากและเป็นที่รับทราบกันดีใน ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่นำใบสดมาทำเป็นใบปั่นโดยจะร่วมหรือไม่ร่วมกับผลไม้อื่นก็ตาม

หรือทำเป็นใบแห้งโดยจะทำให้แห้งโดยไม่ถูกความร้อนหรือจะถูกความร้อนก็ตามและนำมาบดใส่ถุงชาและดื่มเป็นน้ำชาไปตลอดทั้งวัน และรวมกระทั่งนำมาประกอบอาหาร

 

ทั้งนี้ วิถีไทยในการใช้ใบกัญชาและส่วนอื่นที่ไม่มีช่อดอก ใส่เพื่อรสชาติของอาหารและเพื่อความสุขโดยไม่ถึงกับเมา และในครอบครัวคนไทยไม่ได้มีจุดประสงค์ให้กินอาหารแล้วเกิดเมาอาเจียนเวียนหัวบ้านหมุน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คือทำอาหารไม่เป็น และจะผิดจุดประสงค์ของการใช้เพื่อวิถีไทยและการทำอาหารโดยสิ้นเชิง