อ.ปานเทพ แนะ รบ.กำหนดนโยบายเร่งด่วนให้ คกก.กฤษฎีกา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุขให้เร็วที่สุด จี้บังคับใช้ กม.จริงจัง ลักลอบนำเข้า-ร้านกัญชาของชาวต่างชาติ ใช้นอมินีคนไทย ชี้ควรให้ผู้ป่วยปลูกเพื่อใช้บำบัดรักษา ผู้ประกอบวิชาชีพไม่ต้องขอใบอนุญาต ปลูก ผลิต นำเข้า  

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง บันทึกความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุข ข้อความว่า 

ต่อกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….. ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 16-30 กันยายน 2567 จึงเห็นว่าสมควรบันทึกความเห็นต่อ “ฉบับที่มีการแก้ไข” แล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 ไว้ดังนี้

ประการแรก

นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ตัดสินใจเป็นเจ้าภาพในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงด้วยตัวเอง เพราะเท่ากับว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เห็นว่ากัญชา และกัญชง มีประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ จึงไม่ควรกลับไปอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติดต่อไป 

โดยเฉพาะเมื่อมีร่างกฎหมายกัญชา กัญชง ของคณะรัฐมนตรีแล้ว ย่อมเป็นผลงานของรัฐบาลทั้งคณะ ไม่ได้เป็นกฎหมายของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทำให้ความเสี่ยงในเรื่องการเมืองในรัฐบาลเรื่องกัญชา กัญชงย่อมลดน้อยลงไป

ประการที่สอง

ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด 4 ฉบับ ซึ่งมาจากการเข้าชื่อของประชาชน 2 ฉบับ  และมาจากการเข้าชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย อีก 1 ฉบับ  แต่เนื่องจากทั้ง 3 ฉบับ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่กระทรวงสาธารณสุข จึงถือเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล ที่ต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลที่ต้องประสานงานกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะสามารถเร่งกฎหมาย กัญชา กัญชง ของรัฐบาลให้เร็วที่สุดได้หรือไม่

เพราะกฎหมายกัญชา กัญชง ทั้ง 4 ร่างดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรควรลงมติให้ความเห็นชอบทั้ง 4 ฉบับในวาระแรก และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในทุกฉบับเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระที่ 2 ของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในกฎหมายดังกล่าวในการแปรญัตติจากข้อเท็จจริงรอบด้านและรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน 

อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายกัญชา กัญชงนั้น สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน แต่ก็ควรพิจารณาให้มีความต่อเนื่องและรวดเร็ว เพราะประเทศไทยได้ใช้การประยุกต์กฎหมายหลายฉบับในการควบคุมกัญชาเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ด้วยเพราะยังไม่มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาทั้งระบบในฉบับเดียวนานเกินไป

ประการที่สาม

ปัญหาของกัญชา และกัญชง มิใช่เรื่องของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายด้วย โดยเฉพาะการลักลอบการนำเข้าจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเปิดร้านกัญชาจำนวนมากโดยชาวต่างชาติโดยนอมินีคนไทย การเปิดขายร้านกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดขายและโฆษณาออนไลน์ ฯลฯ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อไป

ประการที่สี่  

พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุขโดยภาพรวม ที่เป็นสาระสำคัญ คือ

1.มาตรา 15 การเพาะปลูก การผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำเข้าเฉพาะคราว การส่งออกเฉพาะคราว ของกัญชา กัญชง และสารสกัด “จะต้องขอใบอนุญาตทั้งหมด” ยกเว้นมาตรา 15/1(1)  การผลิต ส่งออก จำหน่าย ส่วนของราก กิ่งก้าน ใบ ลำต้น หรือเมล็ด ของกัญชา กัญชงไม่ต้องขออนุญาต 

2.มาตรา 15/1(2)  “การสั่งจ่ายหรือจำหน่าย” ส่วนของช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง หรือสารสกัด ให้โดยแพทย์เวชกรรม ทันตกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนจีน เพื่อการบำบัดรักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือป้องกันโรคไม่ต้องขออนุญาตในการสั่งจ่ายหรือจำหน่าย แต่ไม่รวมถึงอาชีพสัตวแพทย์

แต่การ ปลูก การผลิต นำเข้า ของกลุ่มแพทย์เหล่านี้ จะต้องขอใบอนุญาตอยู่ดี จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข 

สำหรับประเด็นดังกล่าวนี้ เห็นว่าควรมีการทบทวนให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด คือ การเพาะปลูก การผลิต หรือการนำเข้า เพื่อการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลาย ไม่ควรต้องขอใบอนุญาต รวมถึงสัตวแพทย์ก็ควรได้รับสิทธิ์นี์ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 32 ประมวลกฎหมายยาเสพติด เพราะแม้แต่เป็นยาเสพติดกลุ่มคนทางการแพทย์เหล่านี้ก็ยังสามารปลูก ผลิต หรือจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

และแพทย์เหล่านี้ควรมีสิทธิ์ให้ใบรับรองแพทย์สำหรับให้ผู้ป่วยสามารถได้รับอนุญาตในการปลูกเพื่อใช้ช่อดอกกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อการบำบัด รักษา และความเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หรือให้คณะกรรมการประกาศกำหนดโรคที่ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชา กัญชงได้ เพื่อการพึ่งพาตัวเองได้

และควรเปิดช่องสำหรับการสร้างบุคลากรพิเศษ “ผู้จำหน่ายกัญชา” ในฐานะเป็น “การแพทย์ทางเลือก” ที่เป็นบุคคลทั่วไป ที่ต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมและผ่านการสอบการจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์โดยเฉพาะ จากหน่วยงานที่คณะกรรมการกัญชากัญชงกำหนด ซึ่งอาจใช้ข้อความว่า หรือผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามที่คณะกรรมการฯกำหนด

3.มาตรา 45 กำหนดห้ามผู้ใดบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เว้นแต่มีวัตถุประสงค์ คือ 

(1)การบำบัดรักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้ในมนุษย์เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนจีน หมอพื้นบ้าน 

สำหรับในส่วนดังกล่าวนี้อาจเพิ่ม “ผู้จำหน่ายกัญชา” คือ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการฯประกาศกำหนดด้วย

(2)การศึกษาวิเคราะห์หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่ายงานของรัฐที่มีหน้าที่ ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชนทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมาย ว่าด้วยสถาลันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและการจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์

สำหรับข้อความดังกล่าวควรมีความชัดเจนให้ครอบคลุมถึง การศึกษาในอุดมศึกษาที่มีการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ การแพทย์แผนจีน หรือการศึกษาในหลักสูตรตามที่คณะกรรมการกำหนด

(3)ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้

ประการที่ห้า

ควรเพิ่มบทลงโทษในประเด็นที่สังคมห่วงใย 

มาตรา 62 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 41 ในการจำหน่ายให้กับเด็กเยาวชน จากที่ระวางโทษโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควรเพิ่มโทษเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 67 สำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 46 ที่ว่าห้ามผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยง ส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นบริโภคหรือใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด จากต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ควรเพิ่มโทเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในประเด็นที่ว่ากฎหมายกัญชา กัญชงทั้ง 4 ฉบับจะสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกันได้หรือไม่นั้น ตัวแปรที่สำคัญกลับเป็นร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ… ของกระทรวงสาธารณสุขเอง เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีภารกิจอยู่มาก หากปล่อยไปตามปกติจะทำให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และครั้งละ 1 มาตรา ดังนั้นร่างฉบับดังกล่าวมีทั้งสิ้น 77 มาตรา จึงต้องใช้เวลา 77 สัปดาห์ หรือเป็นเวลาปีกว่า ซึ่งเป็นเวลานานเกินไป อันอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเร่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณากฎหมายกัญชา กัญชงให้มาใช้ให้เร็วที่สุด

สำหรับเรื่องนี้มี 2 แนวทาง คือ รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนและประสานให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุขให้เร็วที่สุด เพื่อพิจารณาไปพร้อมๆกับ กฎหมายกัญชา กัญชงอีก 3 ฉบับ หากสุดวิสัยและไม่สามารถเร่งรัดได้ นายกรัฐมนตรีควรเร่งรับรองกฎหมายกัญชา กัญชงอีก 3 ฉบับไปก่อน โดยให้นำรับข้อสังเกตในร่างของกระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาควบคู่ไปด้วย

ประการที่หก

เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีลักษณะการควบคุมการใช้ กัญชา กัญชง และสารสกัด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อยู่แล้ว เมื่อผ่านขั้นตอนกฎหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ควรประกาศยกเลิกสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สธ.เปิดรับฟังความเห็น พรบ.กัญชา กัญชง ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย

‘สมศักดิ์’ ไม่สรุปสถานะ “กัญชา” ยาเสพติดหรือไม่ ชี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ถึง 30 ก.ย.นี้