อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เผยทิศทางผลิตบุคลากรรองรับกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 ชูเป็นปีแรกของหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ เปิดโอกาสเด็กพื้นที่ห่างไกลสู่บัณฑิตคืนถิ่น มุ่งเน้นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ตอบโจทย์นโยบาย 3 หมอดูแลประชาชนดั่งครอบครัว พร้อมหารือรัฐบาลพิจารณาค่าตอบแทน สวัสดิการเชิญชวนแพทย์เวชศาสตร์อยู่ในระบบมากขึ้น
บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นับเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญและจำเป็นในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่งการผลิตอย่างเพียงพอ และตรงตามความต้องการในบริบทต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) สถาบันหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
“ที่ผ่านมาสถาบันฯ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ แต่ล่าสุดในปี 2566 ถือเป็นปีแรกที่เปิดหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ขึ้น และยังเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ห่างไกล หรือจังหวัดของตัวเองได้เข้ามาเรียน เมื่อจบแล้วก็จะกลับไปทำงานในภูมิลำเนาของตน...เรียกว่า “บัณฑิตคืนถิ่น” ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวตอนหนึ่งถึงทิศทางการผลิตบุคลากรให้แก่กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566
ผู้สื่อข่าว Hfocus มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ถึงรายละเอียดการเปิดหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์เป็นปีแรก ว่า ที่ผ่านมาสถาบันฯ มีหลักสูตรการเรียนการสอนใน 2 คณะ คือ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ โดยมีวิทยาลัย 39 แห่งทั่วประเทศทุกเขตสุขภาพ 13 เขต โดยคณะพยาบาลศาสตร์ มีหลักสูตรปริญญาตรีมี 30 วิทยาลัย ส่วนคณะสาธารณสุข ศาสตร์และสหเวชศาสตร์มี 9 วิทยาลัย จะมีหลายหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท ปริญญาตรี และหลักสูตรต่ำกว่าปริญญาตรี หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เป็นต้น โดยปัจจุบันสามารถประสาทปริญญาบัตรได้เองทั้งหมด
ล่าสุดในปี 2566 สถาบันพระบรมราชชนก และสภาสถาบันพระบรมราชชนก อนุมัติให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เป็นส่วนราชการของสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ จึงมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและผลิตบัณฑิตแพทย์พันธุ์ใหม่เพื่อ “ชนบทอย่างแท้จริง”
โดยมีศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก 3 แห่ง คือ ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พัฒนาและจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างความรู้ชั้นปรีคลินิกกับชั้นคลินิก โดยใน 3 ปีแรกชั้นปรีคลินิกเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วน 3 ปี หลังเรียนที่ “3 ศูนย์แพทย์” ดังกล่าว อีกทั้ง รวมถึงร่วมมือกันพัฒนาอาจารย์ นักศึกษาแพทย์ การวิจัย การบริการทางวิชาการ การประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลหลักสูตร ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 – 2576 และปีนี้เป็นแรกของการผลิตนักศึกษาแพทย์ จำนวน 96 คนกระจายใน 3 ศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก 3 แห่ง แห่งละ 32 คน ซึ่งจะนำเข้าระบบการสอบ TCAS รอบ 2 ในปี 2566 นี้ ซึ่งนักเรียนชั้น ม.6 สามารถยื่นคะแนนสอบ ใน ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน สำหรับการยื่นคะแนน เน้นนักเรียนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3, 5 และ 11 ตามลำดับ
ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ว่า เนื่องจากศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกของ 3 รพ. เปิดมากว่า 20 ปี แต่ยังไม่มีคณะแพทยศาสตร์ จึงมีการหารือ “สบพช.” กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทาง “สบช.” ในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นมา ซึ่งมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนสามารถจัดตั้งได้ปี 2566 เป็นปีแรก ที่สำคัญหลักสูตรที่ตั้งขึ้น ยังเป็นหลักสูตรใหม่ที่เน้นชุมชนเป็นหลัก ทั้งรับนักศึกษาเขตเมือง เขตชนบท และเขตทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกล เพื่อผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โดยให้เกิด 4 ทักษะหรือ 4C ได้แก่ Critical Thinking เป็นนักคิดนักตัดสินใจ , Creativity คิดนอกกรอบ , Collaboration ทำงานเป็นทีมได้ เป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตาม และ Communicator เป็นนักสื่อสารที่ดีเน้นชุมชนเป็นหลัก
“เป้าหมายเราจะผลิตแพทย์ที่แตกต่างกว่าในอดีต คือ เราต้องการให้แพทย์ที่ผลิตออกมามีเจตคติที่ดีกับชุมชน เมื่อเรียนจบแพทยศาสตร์บัณฑิตจะไปเรียนต่อเวชศาสตร์ครอบครัว โดยเรียนต่อ 3 ปีจะได้วุฒิบัตร ซึ่งการดำเนินการตรงนี้เป็นไปตามกฎหมายที่ว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยของกระทรวงสาธารณสุข สอดคล้องกับมาตรา 7 ที่ผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของกระทรวงฯ” ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าว
อีกทั้ง ทิศทางจากนี้ สบช.จะผลิตบุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ ให้ครอบคลุม ตั้งแต่แพทย์ เภสัชฯ ทันตฯ ผู้ช่วยพยาบาล รวมไปถึงบุคลากรต่างๆที่เกี่ยวข้อง และสบช.จะมีการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างการฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เพื่อเป็นผู้ช่วยพยาบาลปีละ 3,000 คนจนครบ 10,000 คน ซึ่งขณะนี้ยังเปิดรับ อสม.ที่สนใจ โดยสามารถติดต่อได้ที่ สสจ. หรือวิทยาลัยในสังกัดของ สบช.ทั่วประเทศ
ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวย้ำว่า การผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวครั้งนี้ เรามุ่งผลิตเพื่อให้อยู่ในระบบ ซึ่ง 20-30 ปีที่ผ่านมาก็จะมีการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โดยจะมีมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ต่างๆร่วมผลิต มีการทำ MOU ร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์และสบช. แม้เราจะผลิตออกมา แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพออยู่ดี เพราะมีประเด็นเรื่องการกระจาย และแพทย์ที่ใช้ทุนแล้วก็จะกลับไปเป็นแพทย์ชำนาญการ แพทย์เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งไม่ผิด แต่ว่าการจะบ่มเพาะตั้งแต่แรก เพื่อมาชุมชนยังน้อย
“ดังนั้น การกระจายตัวแพทย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 253 ที่ระบุว่า ประชาชนคนไทยพึงได้รับการบริการขั้นปฐมภูมิ จึงจำเป็นต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว สบช.จึงได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การกระจายของแพทย์ครอบคลุมพื้นที่ทุกตำบลของประเทศไทย คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีประมาณกว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศ”
ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวนั้น เบื้องต้นมุ่งผลิตใน 3 ศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก จากศูนย์แพทย์ต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขมี 37 แห่ง แต่เฟสแรกผลิตได้ 96 คน เมื่อผลิตได้ตามเป้าก็จะมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เบื้องต้นคาดว่าจะให้บรรจุที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 60 พรรษา ซึ่งเป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่ 82 แห่ง (ครอบคลุมจังหวัดละ 1 แห่ง) นี่เป็นเป้าหมายแรกก่อนจะขยับเพิ่มขึ้น และกระจายทุกจังหวัด (77 จังหวัด) เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ 90 พรรษา
สำหรับการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์ สบช.จะคัดเลือกจากจังหวัดต่างๆ ทั้งในระดับตำบล หรืออำเภอ เมื่อจบแล้วก็กลับคืนสู่ภูมิลำเนาของตนเอง โดยเมื่อมาศึกษากับทาง สบช.ใน 3 ศูนย์แพทยศาสตร์ ก็จะมีการฝึกอบรมกับทางโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) ซึ่งเป็นรพ.ระดับอำเภอขนาดใหญ่ จากนั้นก็จะบรรจุในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ หากทำได้ภายใน 10 ปีก็จะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวกระจายครอบคลุมทุกจังหวัด
“ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องหารือกับรัฐบาลว่า การผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จัดเป็นการผลิตหนึ่งในโครงการสร้าง 3 หมอตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยควรมีการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว สามารถอยู่ในพื้นที่ สามารถดำรงชีพได้ แต่ความเชี่ยวชาญก็ไม่ได้ทิ้ง ยังสามารถศึกษาต่อระดับเชี่ยวชาญได้เช่นกัน ” ศ.พิเศษ ดร. นพ.วิชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาของแพทย์ที่ไม่ศึกษาต่อด้านแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ส่วนหนึ่งเพราะค่าตอบแทนไม่มากเท่าแพทย์เชี่ยวชาญต่างๆ ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า ตรงนี้เราในฐานะมหาวิทยาลัยของกระทรวงสาธารณสุข ก็จะมีการหารือร่วมกับสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องหารือว่า แพทย์ทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่ได้ต้องเป็นอย่างไร เหมือนพื้นที่ภาคใต้ หมอไม่ขาดแคลนแล้ว เพราะมีค่าตอบแทน มีสวัสดิการต่างๆ รวมไปถึงสนับสนุนสวัสดิการให้ครอบครัว เช่น ในอนาคตมีโรงเรียนรองรับลูกๆของแพทย์เวชศาสตร์ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชน พื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
เมื่อถามว่าปัจจุบันแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีกี่คน ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า จากที่หารือกับทางกองปฐมภูมิฯ มีเป้าหมายผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประมาณ 8,000 คน ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 2,000 คนเศษ ทำให้ยังขาดอีกราว 6,400 คน เมื่อทาง สบช.ผลิตตรงนี้ได้ก็ช่วยเพิ่มบุคลากรให้เป็นไปตามเป้าหมายได้
เมื่อถามว่า การผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวตั้งแต่ปี 2566 มีความแตกต่างจากการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทหรือไม่ ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าวว่า ปรัชญากับข้อเท็จจริงย่อมเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้ง สบช. สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากมุ่งทำเพื่อชุมชนจริงๆ เน้นสร้างนำซ่อมได้ ดูแลคนไข้โรคเรื้อรัง ทั้งเบาหวานความดัน ทำให้เขามีสุขภาพดีขึ้น ระบบบริการสุขภาพจะเปลี่ยนไปทันที คนป่วยจะน้อยลง โดยสบช. เน้นการปลูกฝั่งเจตคติ (Attitude) ที่ดีกับชุมชน เราได้เตรียมเด็กที่เรียนของเราปี 1 จะให้ไปฝึกสถานีอนามัย 1 เดือน และปีที่ 2 ไปฝึกโรงพยาบาลชุมชนอีก 1 เดือน จากนั้นปีที่ 3 ให้ฝึกงานร่วมกับวิชาชีพต่างๆ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ และปีที่ 4 ฝึกวิชาชีพ ทั้งหมดจะช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีขึ้นด้วย
“ปีนี้เป็นปีแรกที่เราเปิดรับนักศึกษาแพทย์ จากนั้นปีที่ 2 หรือปีที่ 3 จะเกิดคอนเซปต์ตรงนี้ เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะมีการหารือเพื่อให้เป็นนโยบาย เพราะเราทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยเรื่องนี้ เนื่องจากการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นเรื่องระดับปฐมภูมิ ที่จะช่วยให้เกิดสร้างนำซ่อม เน้นให้คนสุขภาพดีมากขึ้น ลดคนป่วยได้ คนไทยอายุยืนยาวขึ้น” ศ.พิเศษ ดร.นพ.วิชัย กล่าว
อธิการบดี สบช. กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา สบช. มีกลยุทธ์การขับเคลื่อนชุมชนสุขภาวะที่ดี โดยสร้าง “สบช.โมเดล” 1 วิทยาลัย 1 จังหวัด 1 ตำบลสุขภาพดีโดยใช้โมเดลปิงปอง 7 สี เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มโรคเรื้อรัง อย่างเบาหวาน และความดันโลหิต เพื่อให้เกิดการคัดกรองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ผู้ป่วยแต่ละสีมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดการเกิดโรคแทรกซ้อน หัวใจขาดเลือด อัมพาต ไตวายได้
นอกจากนี้ สบช.ยังมีโครงการ สบช.สัญจร เพื่อลงนามข้อตกลงร่วมกับโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 2,360 แห่ง ในการให้โควต้า ส่งมาเรียนกับสบช. โดยไม่ต้องสอบ นี่เป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งได้รับการตอบรับมากพอสมควร ตรงนี้เป็นการสร้างโอกาสให้เด็กนักเรียน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีกับชุมชน ตั้งแต่มัธยมศึกษาก่อนจะเข้าสู่การเป็นนักศึกษาแพทย์ เพื่อให้อยู่ในระบบได้นานขึ้น ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ อย่างค่าตอบแทน สวัสดิการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งหมดเป็นตัวอย่างทิศทาง “การผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” สู่เป้าหมายเพื่อ “ให้ประชาชนสุขภาพดี” เกิดระบบสุขภาพที่มุ่งเน้น “สร้างนำซ่อม...” คนไทยจะมีอายุยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3274 views