ที่ประชุมผู้บริหารสธ. ถกมาตรการเตรียมพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น หลังโควิดเริ่มดีขึ้น พร้อมปรับจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ดันเข้าที่ประชุมคกก.โรคติดต่อแห่งชาติ ก่อนเสนอ ศบค.พิจารณา ขณะที่สธ.ยังไม่ปรับระดับเตือนภัยโควิดจาก 3 เป็น 2 ส่วนหน้ากากอนามัยยังต้องสวมตามความเสี่ยงของพื้นที่  ด้าน รองนายกฯ ย้ำ! เปิดผับบาร์คาราโอเกะ 1 มิ.ย. ห้ามเปิดเกินเที่ยงคืนผิดกฎหมาย

 

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6/2565 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาหารือประเด็นการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น  เนื่องจากสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายมาจนถึงทางกรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข มีความมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้  จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 50 รายต่อวัน การฉีดวัคซีนโควิด 19 ทำได้ดี โดยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 137 ล้านโดส และการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  จนกว่าประชาชนจะมีความปลอดภัย

นายอนุทิน กล่าวว่า  กระทรวงสาธารณสุขจะทำการเสนอการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อคืนความสุขความปกติให้ประชาชน อย่างวันที่ที่ 1 มิ.ย.2565 ได้มีการผ่อนคลายระดับพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว สามารถเปิดผับบาร์ คาราโอเกะ และสถานบริการอาบอบนวดได้ แต่ต้องเปิดไม่เกิน 24.00 น. ที่สำคัญการเปิดต้องเป็นไปตามมาตรการควบคุมโควิด อย่างเปิดเกินเวลาไม่เช่นนั้นผิดกฎหมาย

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่มีอาการโควิด และไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สามารถเข้ารับการรักษาทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด ATK  ผ่อนคลายให้คนเฝ้าไข้ไม่ต้องตรวจ ATK ญาติสามารถเยี่ยมได้สะดวกมากขึ้น มีการตรวจ ATK และ RT-PCR ในผู้ป่วยที่ต้องเตรียมการผ่าตัด หรือรับการรักษาที่เสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโควิดในอากาศ และผู้ป่วยฉุกเฉินตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อผู้ป่วยอื่นๆ และบุคลากรการแพทย์  และตั้งแต่นี้เป็นต้นไปการบริการของโรงพยาบาลจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ พร้อมกันการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจที่ดีขึ้น การบริการแพทย์การไกล ส่งยาถึงบ้าน และมีรูปแบบใหม่ๆที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข และได้รับการสนับสนุนจากสปสช.  

“ ในระยะต่อไปที่โควิด19 กำลังจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบให้โควิด19 ปรับจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และจะกำหนดแนวทางการเฝ้าระวัง คล้ายกับโรคติดต่อทั่วไป แต่ทั้งนี้ยังต้องเสนอแนวทางปฏิบัติผ่านที่ประชุม ศบค.ก่อน เพราะเรายังอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ แต่ขอให้ความมั่นใจว่า สธ.มุ่งเน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และพยายามให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้ห่างไกลจากเชื้อโควิด แต่ในเชิงนโยบายจะประกาศอย่างไร ว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น ยังมีอีกหลายขั้นตอน” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะขอความร่วมมือประชาชนในระหว่างเข้าสู่เป็นโรคประจำถิ่น ขอให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะหว่าง ตามความเหมาสมตามสถานการณ์ ที่สำคัญขอให้มารับวัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะเข็ม 3 และเข็ม 4 ป้องกันการติดเชื้อได้75% และลดการใส่ท่อช่วยหายใจ ป่วยหนัก เสียชีวิตถึง 99%  จึงขอความร่วมมือตรงนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการพิจารณาปรับระดับเตือนภัยโควิดจากระดับ 3 เป็นระดับ 2 หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตอบเรื่องนี้ ว่า  ยังไม่ใช่เวลาในการพิจารณา

เมื่อถามถึงขั้นตอนการพิจารณาลดระดับโควิดจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า กระบวนการขั้นตอนต้องผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนจะดำเนินการเมื่อไหร่ต้องติดตามสถานการณ์และความเหมาะสม

นายอนุทิน กล่าวเพิ่มถึงโรคประจำถิ่น ว่า อย่าเพิ่งไปให้ความสำคัญว่า จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไหร่ ยังมีขั้นตอนอีกมาก การจะประกาศต้องรอดูว่า องค์การอนามัยโลกจะมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งเมื่อมีการระบาดใหม่ๆ รัฐบาลได้มี ศบค. ขึ้น ซึ่งเมื่อมีก็มีกฎหมายต่างๆ อย่างที่ใช้ทางด้านสาธารณสุขก็จะขึ้นกับตรงนี้ ทางสธ.ก็มีความจำเป็นต้องรับฟังนโยบาย แต่ทางปฏิบัติการดูแลรักษาพยาบาล การจัดหาเวชภัณฑ์ เครื่องมือต่างๆทางด้านการแพทย์ อันนี้สธ.ดำเนินการได้ เพราะเป็นการปฏิบัติภารกิจปกติอยู่แล้ว

 “จริงๆตอนนี้การผ่อนคลายต่างๆ ก็เหมือนแทบจะปกติแล้ว อย่างวันนี้ 1 มิ.ย. มีการเปิดผับบาร์ คาราโอเกะ ซึ่งปิดมานานแล้ว แต่วันนี้เราให้เปิด เพราะเรากำลังเดินเข้าสู่โหมดที่ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยนั้น จะสวมหรือจะถอด ก็สามารถประเมินว่า เราอยู่ในที่เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง และหากรู้สึกไม่ปลอดภัยก็สวมไว้ และปฏิบัติมาตรการก็จะช่วยป้องกันโรคได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ในเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลเมื่อหากโควิดเป็นโรคประจำถิ่นก็ต้องพิจารณาว่า องค์การอนามัยโลกจะประกาศอย่างไร ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้น เกือบเป็นปกติ ก็จะมีการคืนภารกิจหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆ โดยในอนาคตหากเป็นเช่นนั้นก็จะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง และเมื่อมีวัคซีนครบถ้วนก็เป็นโรคประจำถิ่นต่อไป ส่วนการดูแลรักษาประชาชนก็เป็นไปตามสิทธิ์ ซึ่งต้องแยกแยกให้ถูกว่า ระหว่างเป็นโรครุนแรง รัฐบาลก็ดูแลทุกคน แต่เมื่อเป็นโรคปกติก็จะไปสู่การใช้สิทธิสุขภาพที่ประชาชนมีอยู่ ส่วนวัคซีนก็จะเน้นกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น คล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ ก็จะมีให้แก่กลุ่มเสี่ยงเช่นกัน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org