ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันบำราศฯ เผยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แม้ฉีดวัคซีนครบโดส แต่การตอบสนองวัคซีนจะน้อยกว่าคนทั่วไป จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเสริม ซึ่งแตกต่างจากเข็มกระตุ้น เข็มเสริมอาจฉีดใน 1 เดือนหรือเร็วกว่านั้น พร้อมเผยคำแนะนำเฉพาะของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ 

 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในงานเสวนาวิชาการออนไลน์ ประเด็น เปิดข้อมูล(ไม่)ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการรับมือไวรัสสายพันธุ์ใหม่ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ระดับทรงคุณวุฒิและรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ความน่ากังวลของโควิด-19 เกิดขึ้นในประชากรกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ตับ ไขกระดูก ผู้ป่วยเอดส์ โดยเฉพาะที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส ผู้มีโรคร่วมหลายโรค และ ผู้เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง ที่ได้รับยากดภูมิอยู่ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีภูมิฯ ค่อนข้างต่ำมากและอ่อนแอ โดยมี 2 ข้อจำกัด คือ 1.สร้างภูมิฯ น้อยกว่าประชากรอื่น และ 2.กลุ่มที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่สามารถสร้างภูมิฯ ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้ง คนกลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิดก็มีโอกาสที่อาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แม้ฉีดวัคซีนครบโดส แต่ประสิทธิผล และการตอบสนองวัคซีนจะน้อยกว่าคนทั่วไป ขณะที่ การฉีดวัคซีนเข็มเสริม(Additional Dose) ที่ต่างจากการเข็มกระตุ้น(Booster dose) คือ เป็นการฉีดเข็ม 3 เร็วขึ้น จากเดิมเข็มกระตุ้นจะฉีด 3-6 เดือน แต่เข็มเสริมอาจฉีดใน 1 เดือนหรือเร็วกว่านั้น จึงเรียกเป็นเข็มเสริม เพื่อให้ภูมิต้านทานดีขึ้น โดยข้อมูล กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง กลุ่มฟอกเลือด ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ได้รับยากดภูมิฯ พบว่า กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งมีจำนวนเท่าของการตอบสนองต่อวัคซีน ชนิด mRNA เมื่อเทียบกับคนทั่วไป ภูมิฯ ลดลงไปเยอะหลายเท่ามากกว่ากลุ่มอื่นข้างดัง ฉะนั้น จะมีภูมิฯ ค่อนข้างน้อย  

“คำแนะนำของกลุ่มที่มีภูมิคุ้นกันบกพร่อง ตามองค์การอนามัยโลก(26ต.ค.64) แนะนำว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ควรได้รับวัคซีนเข็มเสริม คือ 1.ผู้ป่วยมะเร็งในระยะให้เคมีบำบัด จบการรักษาไม่เกิน 1 ปี 2.ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ 2 ปีแรก หรือได้รับยากดภูมิฯ 3.ผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานต่ำรุนแรง ได้รับยากดภูมิฯ สเตียรอยด์ ประมาณ 20 มิลลิกรัมเกิน 2 สัปดาห์ หรือผู้ที่ล้างไตต่อเนื่อง และ 4.ผู้ป่วยเอดส์ ที่เม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 200 เซลล์ และยังไม่ได้รับต้านไวรัส กลุ่มเหล่านี้ควรได้เข็มเสริมเร็วขึ้น อย่างน้อย 1-3 เดือนหลังได้รับวัคซีนชุดแรก ดังนั้น เข็ม 2 รับไปแล้วอีก 1 เดือนควรฉีดเข็มเสริมเลย แต่หากเกิน 3 เดือน ก็ควรรีบเข้ามารับวัคซีน แนะนำด้านการใช้วัคซีนในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอว่า อาจจะรับเข็มเสริมชนิดเดียวหรือต่างชนิดกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและบริบทของแต่ละประเทศ” นพ.วีรวัฒน์ กล่าวและว่า ซึ่งอาจจะเข้าปรึกษาแพทย์ พิจารณารายกรณี

 

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อ 2-3 วันนี้ ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ได้ออกคำแนะนำการให้วัคซีนเข็มเสริมในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ในกลุ่มผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ หรือแพ้ภูมิตัวเองที่ได้รับยากดภูมิ เช่น โรครูมาตอยด์ที่อาการรุนแรง โดยจะเป็น 2 กลุ่มนำร่องของประเทศ ที่จะแนะนำให้เข้ารับวัคซีนเข็มเสริมให้ตนเอง ไม่ต้องรอเข็มกระตุ้น โดยคำแนะนำว่า 1.หากตั้งต้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ควรฉีดชนิด mRNA จำนวน 3 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยรับหลังฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย 1 เดือน

 

2.หากฉีดเป็นชนิดไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA ไปแล้ว 2 เข็ม ควรฉีดชนิด mRNA จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยรับหลังเข็มสุดท้าย 1 เดือน และ 3.กลุ่มฉีดสูตรไขว้ ซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ หรือ ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ตามด้วย mRNA หรือ แอสตร้าฯ ตามด้วย mRNA ควรฉีด mRNA จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยรับหลังเข็มสุดท้าย 1 เดือน