อัปเดตสถานการณ์โควิด19 เมื่อความรุนแรงของโรคไม่เท่าอดีต แนะวิธีหากติดเชื้อต้องทำอย่างไร รักษาที่ไหน เมื่อปัจจุบันไม่สามารถรักษาฟรีข้ามสิทธิทุกโรงพยาบาลทุกสังกัดได้เหมือนเดิม

 

สถานการณ์โรคโควิด19 ณ ปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม ความรุนแรงลดลง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลางจีเสด (GISAID) ณ ปัจจุบัน คือ สายพันธุ์ JN.1 ขณะที่ประเทศไทยก็เช่นกัน โดยพบสายพันธุ์ JN.1  เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด ณ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค.67)

ขณะที่กรมควบคุมโรค เผยแนวโน้มพบผู้ป่วยโควิดลดลง โดยสายพันธุ์ที่ระบาดมากคือสายพันธุ์ JN.1, KP.2 และ KP.3 ตามลำดับ โดยแพร่กระจายได้ง่าย แต่ไม่ได้รุนแรงขึ้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 กรกฎาคม 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 35,581 ราย ปอดอักเสบ 513 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 223 ราย และเสียชีวิต 193 ราย   และในสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 21-27 กรกฎาคม 67 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 928 ราย เสียชีวิต 2 ราย

เมื่อมีอาการสงสัยติดโควิด

สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว  คือ หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือสงสัยป่วยไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19  ควรสวมหน้ากากอนามัยก่อน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แยกตัว ไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่น  และอาจตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากผลพบติดเชื้อ (ขึ้น 2 ขีด) ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม  ที่สำคัญไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

หากตรวจพบเชื้อโควิดและต้องการเข้ารับการรักษา สามารถเข้ารับการรักษาสถานพยาบาลใกล้บ้านตามเงื่อนไขสิทธิสุขภาพของแต่ละบุคคล เช่น บัตรทอง สามารถโทรสอบถามสายด่วนสปสช.1330  ผู้ประกันตนโทรสายด่วนประกันสังคม 1506 เป็นต้น  เนื่องจากสถานการณ์โควิดไม่รุนแรงเหมือนอดีต การรักษาจึงกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ คือ รักษาตามสิทธิแต่ละบุคคล ทั้งสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง

ผู้ป่วยโควิดบัตรทอง กลุ่มสีเขียวรักษาผ่านออนไลน์

โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง หากติดเชื้อโควิด แต่อาการเล็กน้อย หรือกลุ่มสีเขียว สามารถรับบริการผู้ป่วยนอกผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) บนแอปพลิเคชันสุขภาพ  ซึ่งให้บริการครอบคลุม 42 กลุ่มโรค/อาการ รวมถึงโรคโควิด19  โดยผ่าน 3 แอปพลิเคชันคือ  Clicknic (คลิกนิก) หมอดี Mordee เดอะโททอลเล่คลินิก ไลน์ไอดี @totale และซาลูเบอร์เอ็มดี ไลน์ไอดี@Sooksabaiclinik  หรือสอบถามสายด่วนสปสช. 1330  หรือไลน์ไอดี @nhso

 ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีคำแนะนำสำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ขอให้กลุ่มนี้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัดเมื่อเข้าไปในสถานที่เสี่ยง และเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด 19 เนื่องจากหากกลุ่มดังกล่าวติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้  

โดยให้ยึดหลักมาตรการ D-M-H คือ D = Distancing เว้นระยะห่าง M = Mask Wearing สวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย H = Hand Washing หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เพราะมีโอกาสที่เราจะนำมือมาสัมผัสใบหน้าโดยไม่รู้ตัวได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ และแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น     

ขอบคุณข้อมูลจาก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ,กรมควบคุมโรค  และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)