รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านสมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หนุนการสร้างแล็บชาวบ้าน 

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมในครั้งนี้รู้สึกมีความสุข ที่ได้เห็นคณะผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพ สามารถพัฒนารพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จนเป็นเพชรเม็ดงามในจังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้นแบบของการผลิตสมุนไพรที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเพิ่มมูลค่าสมุนไพร สร้างให้กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน ตั้งแต่การปลูก การผลิต การแปรรูปสมุนไพรขั้นต้น อันจะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมาตรฐาน และมีโอกาสแข่งขันในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเกิดการพัฒนาได้ 

“ผมมารพ.อภัยภูเบศรเป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจมาก ได้ฟังการนำเสนอของคณะผู้บริหารทำให้เห็นการทำงานที่เป็นขั้นตอน มีพัฒนาการที่น่าชื่นชม และสามารถช่วยชุมชนโดยการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ  โดยมีเป้าหมายในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตร ให้สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าสมุนไพร และยังเป็นการช่วยส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจด้านตลาดสมุนไพรไทยเติบโตได้  ” ดร.สาธิต กล่าว  

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการฯ กล่าวว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นศูนย์กลางของคนปราจีนบุรี เป็นต้นแบบการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ได้ดี ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านสมุนไพรและกัญชาของประเทศ ที่ทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ  และยังเป็นต้นแบบของการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสามารถขยายผลไปสู่การเรียนรู้ระหว่างกันได้ในระดับประเทศ           

พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า  โปรเจ็กต์สร้างโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ต้นแบบ ให้เป็น แล็บชาวบ้าน นั้นอภัยภูเบศรมีความตั้งใจอยากให้เกิดขึ้นโดยจะใช้ พื้นที่หาดยาง จ.ปราจีนบุรี ที่ได้รับงบประมาณมาส่วนหนึ่งแล้วเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสมุนไพรครบวงจร เพื่อให้ชาวบ้าน เกษตรกร ผู้ปลูกได้มาศึกษาพื้นฐานตั้งแต่ การปลูกสมุนไพรเบื้องต้น การจัดการ การผลิตและแปรรูปขั้นพื้นฐาน เป็นแนวทางในการช่วยเพิ่มมูลค่ากับสมุนไพร มากกว่าแค่ให้พวกเขาทำได้แค่การปลูกเท่านั้น แต่ยังต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้โครงการสมบูรณ์  ในอนาคตเราคิดว่าสมุนไพรจะเป็นคำตอบให้กับสังคม ทั้งในแง่ของการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ยา อาหาร และบริการ จะสามารถช่วยสร้างเม็ดเงินและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ และการพัฒนาสมุนไพรให้ตอบโจทย์สังคมยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ยุคสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ มีสุขภาพดี 

                                                                                                                                                                                                

พญ.โศรยา กล่าวต่อว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรตั้งเป้าการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรในกลุ่มที่เกษตรกรมีศักยภาพต่อยอดได้เองใน 5 กลุ่ม คือ 1.สมุนไพรเพื่อสมองดี ด้วย บัวบก ตำรับกลีบบัวแดง 2. สมุนไพรปรับสมดุลอารมณ์ เช่น กัญชา กัญชง 3. สมุนไพรดูแลหัวใจดี คือ บัวหลวง 4. สมุนไพรที่ดูแลกลุ่มกระดูกและข้อ เช่น ขมิ้นชัน เพชรสังฆาต และ 5. สมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกันด้วยฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้การพัฒนาสมุนไพรนี้เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ทางโรงพยาบาลได้ศึกษาวิจัยมาก่อนหน้าแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 65

ทั้งนี้ รมช.สาธารณสุข ได้กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการดังกล่าวมีประโยชน์ ตนรับที่จะไปดูงบประมาณในส่วนนี้ให้ แต่ยังไม่รับปากว่าจะได้รับการจัดสรรเท่าใด เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องตัดงบในหลายส่วนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศช่วงวิกฤตโควิด