กก.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเคาะเสนอขอรับจัดสรรงบ พรบ.เงินกู้ฯ เพิ่มเติม 3,844 ลบ. ดูแลประชาชน “กรณีโควิด-19” ต่อเนื่อง เข้าถึงการรักษา บริการสาธารณสุขที่จำเป็น พร้อมครอบคลุมค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 840 ลบ. หนุนหน่วยบริการให้บริการฉีดวัคซีนประชาชน

 

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564  ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยต้นปีงบประมาณ 2564 สปสช. ได้เสนอขอรับจัดสรรงบตาม พ.ร.บ. เงินกู้ฯ ปี 63 (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563) จำนวน 9,200 ล้านบาท เบื้องต้นได้รับจัดสรรงบจำนวน 2,228 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณให้เสนอเพิ่มเติมภายหลัง และจากผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 14 ก.พ. ที่ผ่านมา มีประชาชนได้รับการดูแล ทั้งบริการป้องกันและรักษาพยาบาลจำนวน 443,243 คน เบิกจ่ายแล้วจำนวน 1,247.70 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณ 600 ล้านบาท/เดือน ส่งผลให้งบคงเหลือจำนวน 980.98 ล้านบาท เพียงพอถึงเดือน เม.ย. 64

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการกรณีโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันนี้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนและคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ ที่มีนางดวงตา ตันโช เป็นประธาน เพื่อเสนอขอรับงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ปี 63 เพิ่มเติมจำนวนวงเงินไม่เกิน 3,844 ล้านบาท 

งบประมาณที่เสนอเพิ่มเติมนี้ นอกจากใช้เบิกจ่ายค่าบริการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2,446.76 ล้านบาท สำหรับคนไทยทุกสิทธิจำนวน 1,426,700 คน และค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 445.62 ล้านบาท โดยประมาณการผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ที่จำนวน 6,222 คนแล้ว ยังมีคำของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเป็นค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับหน่วยบริการในอัตรา 20 บาท/โด้ส จากปีงบประมาณ 2564 มีแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวน 42 ล้านโด้ส คิดเป็นงบประมาณจำนวน 840 ล้านบาท (ส่วนอีก 21 ล้านโด้ส จะเป็นการให้บริการหลังเดือนตุลาคม 2564 ที่เป็นค่าใช้จ่ายของปีงบประมาณถัดไป) พร้อมเพิ่มเติมงบในการรองรับกรณีเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการโควิด-19 อีกจำนวน 110.88 ล้านบาท ตามข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุข

“กองทุนบัตรทองมีหน้าที่เป็นหลักประกันสุขภาพดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ทั้งในยามสภาวการณ์ปกติและในภาวะฉุกเฉิน อย่างกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ โดย สปสช. ได้เร่งบริหารจัดการสนับสนุนให้เกิดการจัดบริการที่จำเป็นรอบด้าน นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว บริการป้องกันโรค เช่น การสนับสนุนบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ได้เริ่มให้บริการฉีดแล้วเมื่อวานนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเข้าวัคซีนฯ และทยอยฉีดให้กับประชาชนต่อไป ถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยบริการจัดบริการฉีดวัคซีนฯ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะโรครุนแรง ลดอัตราความเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้กับประขาชน”

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ข้อเสนอขอรับงบจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมจากรัฐบาลวงเงินไม่เกิน 3,844 ล้านบาทในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 และปีงบประมาณ 2564 ก่อนหน้านี้ เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 โดยแยกจากงบกองทุนบัตรทองตามปกติเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งภายหลังที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 กองทุนบัตรทองได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีโควิด-19 เป็นการเฉพาะ ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 ถือเป็นบทบาทของกองทุนบัตรทอง