“อนุทิน” ลั่น ปชช. 8 แสนคน กระทบกรณีคลินิกโกงงบบัตรทอง ไม่ต้องห่วง สปสช. เร่งหาสถานพยาบาลใหม่รองรับแล้ว ด้านรองเลขาฯ ย้ำผู้ป่วยกลุ่มนี้จัดเป็นสิทธิ์ว่าง ที่ระหว่างหาหน่วยบริการใหม่ สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ พร้อมให้สถานพยาบาลนั้นเบิกเงินมาที่สปสช. เผยแนวทางให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาต่อเนื่อง ไม่ต้องจ่ายค่าเวชระเบียนให้คลินิกเก่าเพื่อส่งต่อคลนิกใหม่
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นรวม 82 แห่งจนกระทบต่อผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง 8 แสนคน ว่า ขณะนี้กำลังแก้ไขปัญหานี้อยู่ แต่ต้องย้ำว่า สปสช.ต้องยกเลิกคลินิกกลุ่มนี้ เพราะตรวจพบความไม่ชอบมาพากล และสปสช.เป็นรัฐ จึงไม่สามารถทำธุรกรรมกับคู่สัญญาที่ผิดสัญญา และทำผิดกฎหมาย จึงต้องยกเลิก ส่วนประชาชนที่มีสิทธิ์ตามคลินิกเหล่านี้ สปสช.กำลังประสานและจัดหาที่ใหม่ให้ แต่ช่วงต้นๆ ก็มีความไม่สะดวกบ้าง ซึ่งกำลังเร่งแก้ไข ดังนั้น ต้องขออภัยในความไม่สะดวก จะรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด
“คนที่ทำผิดก็ขออย่าอ้างประชาชน อย่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เพราะท่านทำความเสียหายให้กับประเทศ นี่คือเงินภาษีประชาชน เงินรักษาประชาชน ยังคิดโกงกันได้ ก็ไม่รู้จะพูดยังไง นึกไม่ถึงว่าจะเลวได้ขนาดนี้ คนที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจริงๆ ก็คือกลุ่มนี้ที่เอาเงินประชาชนไปทุจริต ซึ่งสปสช.กำลังแก้ไขปัญหานี้” นายอนุทิน กล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช). กล่าวว่า สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีการเบิกงบบัตรทองเกินความเป็นจริงรวม 82 แห่ง แบ่งเป็นล็อตแรก 18 แห่ง ล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่ง ซึ่งการยกเลิกเป็นไปตามสัญญากำหนดไว้ เพราะตรวจพบว่ามีการเบิกเงินไม่ถูกต้อง แต่เมื่อยกเลิกก็จะเกิดผลกระทบกับประชาชนสิทธิ์บัตรทองรวม 8 แสนคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองที่อยู่ในคลินิกหรือหน่วยบริการที่ถูกยกเลิกไปนั้น ยังได้รับสิทธิ์บัตรทองเหมือนเดิม โดยกลุ่มนี้มีประมาณ 8 แสนคนจะเป็นกลุ่มสิทธิ์ว่าง แต่ในที่นี้กลุ่มสิทธิ์ว่างสามารถรับบริการคลินิกหรือโรงพยาบาลไหนก็ได้ที่นอกเหนือจากคลินิกที่ถูกยกเลิกไป โดยโรงพยาบาลหรือคลินิกนั้นๆ เมื่อให้บริการแล้วสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช.ได้ตามปกติ
“ขณะนี้ได้แจ้งไปยังคลินิกและหน่วยบริการอื่นๆที่ไม่ได้ถูกยกเลิกให้รับทราบเรื่องนี้แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ทั่วถึงจึงต้องขอย้ำประเด็นนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่องนั้น สามารถไปรับยาที่คลินิกหรือหน่วยบริการใหม่ได้ แต่หากมีการสอบถามเรื่องเวชระเบียน หรือประวัติการรักษา ล่าสุดสปสช.ได้หารือกับทางกรุงเทพมหานคร ในการประสานกับหน่วยบริการและคลินิกเอกชนพื้นที่กทม.ว่า ให้ทำเรื่องขอประวัติผู้ป่วยได้ด้วยการขอให้ผู้ป่วยกรอกใบยินยอม โดยจะมีเอกสารเงื่อนไขตามกำหนด คือ บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น เพื่อลดปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมาว่า มีประชาชนบางส่วนต้องเสียค่าใช้จ่ายเวชระเบียนจำนวน 150 บาทให้แก่คลินิกเก่า เพื่อนำไปรักษาหน่วยบริการใหม่ “ ทพ.อรรถพร กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช. เขตกทม. แยกคนไข้ แบ่งเป็น กลุ่มแรก คือ คนไข้มีนัดหมาย อย่างการผ่าตัดต่างๆ ซึ่งเมื่อถูกยกเลิก ทางสปสช.เขตกทม. ได้ประสานไปยังคนกลุ่มนี้เพื่อหาหน่วยบริการ กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนไข้เรื้อรัง ซึ่งก็กำลังประสานหน่วยบริการให้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ช่องทางการสื่อสาร การสอบถามมายังสปสช.นั้น อย่างสายด่วนโทร 1330 ปกติแต่ละเดือนจะมีคนโทรมาประมาณ 6 หมื่นสาย แต่จากกรณีนี้แค่ 3 วันเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นจึงทำให้ไม่สะดวก ต้องขออภัยมาเรื่องนี้ ซึ่งได้เปิดช่องทางผ่านเฟซบุ๊ก สปสช. ให้สามารถสอบถามมาได้ ผ่าน Inbox ได้ นอกจากนี้ สปสช.ได้รวบรวมคำถามหลัก 15-16 คำถาม ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ต่างๆ โดยจะเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ ซึ่งท่านสามารถโทร 1330 และกดเลข 6 ก็จะเป็นการตอบคำถามหลักๆให้ก่อน
“ส่วนการตรวจสอบสิทธิได้เปิดช่องทางไลน์ พิมพ์คำว่า สปสช. จะมีเมนูตรวจสอบสิทธิ หากคลิกเข้าไปพบชื่อสถานพยาบาล แสดงว่าสิทธิ์ท่านเหมือนเดิม แต่หากไม่มีชื่อใดๆ แสดงว่าเป็นสิทธิ์ว่าง ให้ติดต่อมาที่โทร.1330 ส่วนที่บางกลุ่มติดต่อไม่ได้ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ เนื่องจากสายโทรเข้ามาจำนวนมาก” ทพ.อรรถพร กล่าว
- 54 views