อนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ เอาผิดคลินิกโกงงบบัตรทอง 86 แห่งรวมความเสียหายราว 100 ล้านบาท ทั้งข้อมูลเท็จ ปลอมแปลงเอกสาร สวมสิทธิ์ผู้ป่วย ย้ำใครถูกสวมสิทธิ์ไม่ต้องกังวล ยังสามารถใช้บริการตามเดิม
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ สปสช. แถลงข่าว “ความคืบหน้าการเร่งดำเนินการเอาผิดกับหน่วยบริการทุจริตเงินบัตรทอง” โดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ สปสช. กล่าวว่า จากที่คณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้เห็นเอกสารและหลักฐานการเบิกจ่ายค่าบริการเท็จ ทั้งในส่วนของคลินิก 18 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 2 แห่ง ที่ สปสช. ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว และที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม 63 แห่ง และคลินิกทันตกรรมอีก 3 แห่ง มั่นใจว่าจะเอาผิดได้แน่นอน เพราะเมื่อดูรายละเอียด พบการปลอมแปลงแก้ไขข้อมูลจำนวนมาก ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง และข้อมูลอื่น เพื่อให้เข้าเกณฑ์รับการตรวจคัดกรองและเบิกจ่ายบริการ เป็นข้อมูลเพียงพอที่จะให้ดีเอสไอดำเนินการต่อจนถึงที่สุดได้
นายนิมิตร์ เทียนอุดม
“เราพบว่า คลินิกมีการสมรู้ร่วมคิดกับแล็ปในการทำความผิดด้วยกัน ซึ่งพบว่าเป็นใบผี ผลแล็ปปลอม ไม่พบประชาชนเข้าใช้บริการ หรือเข้าใช้บริการแต่มีการแก้ไขข้อมูล ตรงนี้ถือเป็นการทำลายระบบสุขภาพ ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสุขภาพ คุณทำลายวิชาชีพของคุณ และเป็นการทำลายอนาคตสุขภาพเกือบๆ 2 แสนคนที่ถูกอ้างชื่อ ที่สำคัญคนเหล่านี้ยังสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการที่จำเป็น เนื่องจากเมื่อถูกอ้างชื่อหากเขาป่วย เป็นเบาหวาน ความดัน ไปรักษานั้น ทางระบบจะขึ้นว่ามีการรักษาแล้ว ก็เสียโอกาสไปทันที ซึ่งตรงนี้จะต้องเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้”
เมื่อถามว่าทราบได้อย่างไรว่ามีการปลอมเอกสาร นายนิมิตร์ กล่าวว่า ตรวจพบจากความสูงของผู้ป่วยที่ลงระบบ เนื่องจากปีก่อน ส่วนสูงจำนวนเท่านี้ แต่ปีล่าสุดกลับพบส่วนสูงลดลงเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และมีการตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ อีกก็พบการปลอมแปลง
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเดินหน้าตรวจสอบในส่วนของ กทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 180 แห่ง และคลินิกทันตกรรมประมาณ 100 แห่ง นอกจากคลินิกเอกชน 18 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 2 แห่งที่ดำเนินคดีไปแล้ว ขณะนี้ สปสช.ได้ระดมทีมผู้ตรวจสอบทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่จากต่างจังหวัดเข้ามา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ สปสช. รวมประมาณ 300 คน เร่งตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายบริการคัดกรองโรคทั้งหมดของหน่วยบริการ 66 แห่งในพื้นที่ กทม. โดย สปสช.ได้อายัดเอกสารจากคลินิกทั้ง 63 แห่ง เมื่อวันที่ 20-24 ก.ค. 63 ได้เอกสารมากกว่า 5 แสนฉบับ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม กำหนดระยะเวลาตรวจไว้ถึงวันที่ 14 สิงหาคม นี้ ขณะนี้ตรวจไปแล้วเกือบ 160,000 ฉบับ พบเอกสารไม่น่าเชื่อถือประมาณ 80,000 ฉบับ ซึ่งกรณีที่พบว่าเป็นการตกแต่งข้อมูลเป็นเท็จ มีการสวมสิทธิ์ ฯลฯ สปสช.ได้รวบรวมเพื่อส่งหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีกับทางกองบังคับการปราบปรามและดีเอสไอแล้ว ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ โดยมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 34 ล้านบาท สำหรับ 63 คลินิก และ 3 คลินิกทันตกรรม ซึ่งต้องเรียกเก็บเงินคืนทั้งหมด และดำเนินคดีทางกฎหมาย
“สำหรับใครถูกสวมสิทธิ์ ให้สามารถไปใช้สิทธิ์ได้เหมือนเดิม โดยเราจะทำเว็บไซต์เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบได้ โดยสปสช. ได้จัดทำระบบพิสูจน์ตัวตนออนไลน์แล้ว เริ่มเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยประชาชนต้องขอรหัสเบิกจ่ายเพื่อให้กับหน่วยบริการก่อนเข้ารับบริการ และหน่วยบริการต้องมีรหัสนี้ในการส่งเบิก และในอนาคตจะมีการทำระบบเชื่อมโยงกับบัตรสมาร์ทการ์ด เพื่อเชื่อมโยงกับระบบพิสูจน์ตัวตนในการรับบริการที่หน่วยบริการ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนที่ถูกสวมสิทธิ์ ณ ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างไร นพ.การุณย์ กล่าวว่า ประชาชนเข้ารับบริการได้ปกติ แต่คลินิกไหนที่ทำเราจะทยอยเอาออกจากระบบ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อคน โดยกลุ่มที่พบการสวมสิทธิ์นั้น ส่วนหนึ่งมีใช้บริการจริง แต่ข้อมูลเท็จ อย่างไรก็ตาม สปสช.กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่จึงไม่ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม ทั้งหมด สปสช. ได้ดำเนินการแจ้งความต่อคลินิก 86 แห่ง และห้องแล็ป หรือห้องปฏิบัติการเทคนิกการแพทย์อีก 2 แห่งแล้ว
เมื่อถามว่างบประมาณที่ให้แก่คลินิกในการตรวจสุขภาพเมตาบอลิก มีมูลค่าเท่าไหร่ นพ.การุณย์ กล่าวว่า มีมูลค่ารวม 250 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่เสียหาย อันนี้เป็นงบภาพรวม ส่วนความเสียหายเบื้องต้น 34 ล้านบาทจากการตรวจเอกสาร 1.6 แสนฉบับ
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับมูลค่าความเสียหายที่มีการเรียกคืนเงินนั้น จากการตรวจสอบคลินิกล็อกแรก 20 แห่ง มีมูลค่าความเสียหาย 60 ล้านบาท และล็อต 2 จำนวนคลินิก 66 แห่ง(คลินิก+ทันตกรรม3 แห่ง) 34 ล้านบาท
- 241 views