สปสช.เร่งจัดทำช่องทางให้ประชาชนเช็กใครถูกสวมสิทธิ์ พร้อมแนะนำทางออก เบื้องต้นโทรสอบถามได้สายด่วน 1330 ส่วนคลินิกทุจริตงบบัตรทองเบื้องต้นพบ 86 แห่งเสียหายกว่า 108 ล้านบาท เร่งเรียกคืนทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายเงินค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของคลินิกเอกชน โดยล่าสุดตรวจพบ 2 ล็อต โดยล็อตแรก 20 แห่ง ( 18 คลินิก+2 คลินิกทันตกรรม) มูลค่าเสียหาย 74 ล้านบบาท แต่เรียกคืนกลับราว 60 ล้านบาท และล็อตที่สอง มีคลินิก 66 แห่ง( 63 คลินิก-3 คลินิกกทันตกรรม) รวมมูลค่าเสียหาย 34 ล้านบาท รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสองล็อต 108 ล้านบาท ซึ่งสปสช.เรียกเงินคืน และดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย ขณะเดียวกัน สปสช.ยังเดินหน้าระดมเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้ามาตรวจสอบคลินิกเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.ทั้งหมด ทั้งคลินิกเวชกรรมและคลินิกทันตกรรม ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.-14 ส.ค. 2563 โดยตั้งเป้าว่าจะต้องสรุปผลการตรวจสอบให้ได้ภายในสิ้นเดือน ส.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับประเด็นการตรวจพบความทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น ซึ่งได้มีการเปิดเผยในการแถลงข่าวความคืบหน้าเอาผิดคลินิกทุจริตงบบัตรทองเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่สปสช. ระบุไว้ประกอบด้วย ประเด็นที่ไม่น่าเชื่อถือกรณีคัดกรอง มี 7 ประเด็น คือ 1.หน่วยที่ส่งเบิกไม่ตรงกับหน่วยคัดกรอง 2. มีการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล 3. มีการแก้ไขน้ำหนัก ส่วนสูง BMI เส้นรอบเอว 4. ความผิดปกติของใบตรวจคัดกรอง 5. วันที่ให้บริการในข้อมูลส่งเบิกก่อนวันคัดกรอง 6. ลายมือชื่อผู้รับบริการคล้ายกับผู้ให้บริการรายอื่นมากกว่า 5 ราย 7. ไม่มีการลงลายมือชื่อผู้รับบริการ
นอกจากนี้ ยังพบประเด็นอื่นๆ อาทิ ประเด็นไม่น่าเชื่อถือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยไม่มีข้อมูลหน่วยบริการในใบรายงานผลทางห้องปฏิบัติการ วันที่รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อนวันคัดกรอง รวมทั้งประเด็นไม่เคยไปรับบริการ โดยทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโทรไปสอบถาม เป็นต้น
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นเงินจากภาษีประชาชน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายอย่างชัดเจนว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้และต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด ดังนั้น สปสช.จึงได้ทำการตรวจสอบครั้งใหญ่ โดยระดมผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรงกว่า 300 คน มาทำงานนี้ มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาว่าแบบไหนคือการทุจริต แบบไหนเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค แล้วทีมที่ตรวจสอบจะตรวจสอบตามเงื่อนไขเหล่านี้
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับ 18 คลินิกที่ข้อมูลการตรวจคัดกรองสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือ พบว่า มีทั้งบอกว่าผู้ป่วยมารับบริการแต่โทรไปถามแล้วผู้ป่วยบอกว่าไม่ได้มารับบริการ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้วไม่มีให้ บางรายรายเซ็นเอกสารแทนผู้ป่วย หรือมีการแก้ไขเวชระเบียนให้ส่วนสูงลดลงหรือน้ำหนักเพิ่มมากๆ เพื่อปั้นข้อมูลทำให้ดัชนีมวลกายมากขึ้น ขณะนี้ได้ยกเลิกสถานะการเป็นหน่วยบริการคู่สัญญากับ สปสช.แล้ว และฟ้องอาญาไปแล้วกับทางกองปราบปราม โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าร่วมตรวจสอบด้วย รวมทั้งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็จะดำเนินการเอาผิดและยกเลิกสถานะการเป็นหน่วยบริการของคลินิกเหล่านี้
"คลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพฯมีประมาณ 180 แห่ง ส่วนคลินิกทันตกรรมในกรุงเทพฯมีประมาณ 100 แห่ง ตอนนี้เราอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งระบบ นอกจากนี้ยังจะตรวจสอบในพื้นที่อื่นๆ ที่มีคลินิกชุมชนอบอุ่นให้บริการ คือ เขต 4 เขต 5 และเขต 6 เราจะปูพรมตรวจทั้งหมด” นพ.การุณย์ กล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่กังวลว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ถูกสวมสิทธิ์หรือไม่นั้นให้โทรสอบถามได้ที่สายด่วน 1330 และเร็วๆนี้ทางสปสช.กำลังจัดทำช่องทางเว็บไซต์เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบว่า ถูกสวมสิทธิ์หรือไม่ และจะมีทางออกแก้ไขอย่างไร ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการ
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- สบส. เปิดชื่อ “2 คลินิก” ถูกสั่งปิด 30 วัน หากไม่ปรับระบบถูกต้องถูกเพิกถอนอีก
- สปสช.ลุยเอาผิดคลินิกโกงงบบัตรทองล็อตสอง 34 ล้าน พบสวมสิทธิ์-ข้อมูลเท็จ 8 หมื่นราย
- 54 views