“นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” สปสช.ปรับ Mind Set ไม่นั่งคิดประเด็นจุกจิก ทุ่มเทกับเทคโนโลยีและยุทธศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อสร้างระบบหลักประกันที่ดีที่สุดในโลก
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวบรรยายในเวทีประชุม "หลักประกันสุขภาพคนไทย ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ Disruption ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยกล่าวว่า คำว่าฝันให้ไกลไปให้ถึง คำถามคือฝันให้ไกลนี่คือฝันอะไร สำหรับผมคือฝันว่าหลักประกันสุขภาพของไทยจะเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีที่สุดในโลก ถามว่าเกินไปหรือไม่ แต่ถ้าดูเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ไทยเริ่มต้นของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นครั้งแรกๆ ในประเทศกำลังพัฒนา มีคนบอกว่านั่นคือความใฝ่ฝันที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ นำมาสู่การเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆทั่วโลก จนกลายเป็นจุดหมายที่สำคัญขององค์การอนามัยโลก
"ดังนั้นเมื่อ 18 ปีที่แล้วทำได้ ทำไมจะตั้งความฝันว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีที่สุดในโลกไม่ได้" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ตนลองวิเคราะห์ปัจจัยว่าหากจะทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีที่สุดในโลก อะไรคือปัจจัยที่สามารถกระทำได้บ้าง ประการแรก Critical Mass ของประชากรที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพ 40 กว่าล้านคน เป็นกลุ่มประชากรที่เหมาะสมที่สามารถที่จะคิดใหม่ ต้อง Disrupt Mind Set ใหม่ อย่าคิดว่าประเทศที่เจริญกว่ายังทำไม่ได้แล้วไทยเก่งมาจากไหนจะทำได้หรือไม่ วันนี้ไม่มีโมเดลที่ดีที่สุดที่จะต้องเลียนแบบ เป็นจุดที่เราต้องเริ่มต้นคิดเองว่าโมเดลแบบไหนที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเราดีที่สุดเท่าที่ควรจะเป็นได้
นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ประการที่สองที่ต้อง Disrupt คือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ในสมัยปี 2544-2545 คิดฝันได้แต่ไม่มีเทคโนโลยีอย่าง Internet of Things, Blockchain, AI แต่ปัจจุบันเราสามารถทำอะไรได้เยอะมากหลังจากการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน เราคุ้นเคยกับอัลกอริทึมของ Facebook คุ้นเคยกับ AI ที่โต้ตอบกับคนอย่าง SIRI ฉะนั้นเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างมาก แต่ถามว่าวันนี้ สปสช.ทำงานเหมือน 18 ปีที่แล้วหรือไม่
"ผมมีโอกาสนั่งฟังบอร์ด สปสช. กรณีคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นทันทีคือเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีคนที่ไม่ได้มาตรวจจริงๆ แต่ส่งมาเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ รวมทั้งเรื่องการตรวจสอบที่น่าตกใจมากเพราะเอกสารเป็นลังๆ อยู่เต็มห้อง ทำไมต้องมีเอกสารเป็นลังๆ อยู่เต็มห้องอีก ขณะที่วันนี้ธนาคารหรือธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องไฮเทคทั้งหลายสามารถทำทุกอย่างบนออนไลน์โดยใช้ AI หรือ Internet of Things สปสช.มีงบประมาณปีละประมาณ 1.7-1.8 แสนล้านบาท ถ้าเป็นองค์กรธุรกิจถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มาก ฉะนั้นต้องคิดใหม่แล้ว ถามว่าคิดใหม่ อะไรที่เป็นเป้าหมายต้องบรรลุผลสำเร็จ ก็คือสิ่งที่เป็น Pain Point ทั้งหลายที่ได้รับ Feedback มานั่นเอง" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ.สุรพงษ์ ยกตัวอย่าง Pain Point เช่น เรื่องคุณภาพ ความไม่สะดวก ความแออัด เรื่องงบประมาณไม่พอ เรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ จะต้องเอามารวมกันหรือไม่ รวมทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุต่างๆ ถ้าจะ Disrupt ระบบหลักประกันสุขภาพ เรื่องคุณภาพเป็นเรื่องใหญ่มาก วันนี้ไม่ใช่เรื่องของการเข้าถึงอย่างเดียว ปัญหาเรื่องคุณภาพการรักษาจะทำอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเครือข่าย วันนี้ทุกหน่วยงานที่ทำงานกับ สปสช. ที่ตั้งใจทำงานอาจจะรู้สึกว่าเป็นทุกข์ Mind Set ของ สปสช.อาจต้องมองว่าถ้าจะพัฒนาคุณภาพ พัฒนาเรื่องการบริการผู้ป่วย ต้องมองว่าหน่วยบริการทุกๆ หน่วยคือหุ้นส่วน และทำอย่างไรให้ สปสช. กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้การทำงานของหุ้นส่วนเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ทุกวันนี้แนวคิดเรื่อง Sharing Economy เกิดขึ้นมากมาย โมเดลนี้ สปสช.คือแพลตฟอร์มแล้วเชิญชวนทุกคนเข้ามาในแพลตฟอร์มนี้ นอกเหนือจากโรงพยาบาลเอกชนแล้วยังมีส่วนอื่นๆ อีกมากมายที่เข้ามาทำงานร่วมกันได้โดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น คลินิก ทำไมต้องเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นเท่านั้น หรือเรื่องการตรวจเลือด ทำไมจะต้องมาตรวจเลือดแต่เช้าตรู่ ตรวจเลือดเสร็จรอหมอตรวจตอนประมาณ 8-9 โมง กว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลอาจจะเป็นช่วงบ่าย ทำไมต้องตรวจเลือดวันนั้น ตรวจล่วงหน้าก่อน 1 วันได้หรือไม่ ตรวจใกล้ๆ บ้านก่อนได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องคิดใหม่ทั้งหมดว่าเราจะสร้าง Network เครือข่ายของหน่วยบริการในแพลตฟอร์มของ สปสช.ได้อย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์และคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มก็ได้ประโยชน์ด้วย" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
Pain Point ประเด็นต่อมาที่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงคือเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาล ยกตัวอย่างโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยซึ่งสามารถฟื้นจากขาดทุนเป็นกำไรภายในช่วงระยะไม่ถึง 2 ปี โรงพยาบาลไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแค่เบิกเงินจาก สปสช. ให้ได้ครบอย่างที่ควรจะเบิกได้ สะท้อนปัญหาว่าถ้าหากหน่วยบริการไม่เบิกจาก สปสช. สปสช.ก็ไม่จ่ายเงิน ซึ่งไม่เหมือนวิธีที่ควรจะเป็น คนที่ทำงานกับสปสช. ถึงเวลาก็ต้องได้เงินโดยที่ไม่ต้องร้องขอ และควรได้เงินทันทีที่ให้การรักษาเสร็จ ระบบเหล่านี้เป็นระบบที่สามารถจะวางแผนได้หมดในโลกยุคปัจจุบัน
ประเด็นต่อมาคือเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย ถ้าอยากสร้างเครือข่ายมีคลินิกใกล้บ้านต้องทำระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพด้วย แต่ถ้าระบบส่งต่อยังต้องเขียนใบต่อแล้วให้ผู้ป่วยถือเอกสารไปโรงพยาบาล ทำไมเครือข่ายที่มีอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขหรือแม้แต่ภาคเอกชนที่เชื่อมต่อกับ สปสช. ไม่สามารถเอาข้อมูลทั้งหมดนี้มาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยได้เลย ถ้าต้องส่งต่อมีนัดหมายที่โรงพยาบาลให้เรียบร้อย ถ้าต้องนอนโรงพยาบาลก็มีเตียงรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว ที่กล่าวมานี้ AI ทำได้หมด
ต่อมาประเด็นปัญหาเรื่องเงินไม่พอ ในช่วงที่เริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพ สำนักงบประมาณบอกว่าเงินไม่พอ ทำไม่ได้ ตนโต้แย้งว่านี่คือนโยบายสำคัญต้องทำให้ได้ สุดท้ายเกิดการปฏิรูประบบงบประมาณ การลงทุนต่อไปนี้ต้องลงทุนตามยุทธศาสตร์ อะไรที่ไม่สำคัญก็ตัดทิ้ง อะไรที่สำคัญก็ขยายเพิ่มขึ้นมา ฉะนั้นตนคิดว่าเรื่องงบประมาณไม่ใช่ประเด็น ถ้าบอกว่าทำให้โรงพยาบาลขาดทุน สมมุติว่า 1 แสนล้าน เท่ากับปีละ 5,500 ล้านบาทเท่านั้น ถามว่าในงบประมาณของรัฐบาลปีละ 3.3 ล้านๆ บาทสามารถสนับสนุนได้อยู่แล้ว อยู่ที่การให้ความสำคัญต่างหาก ดังนั้นเรื่องงบประมาณไม่ใช่ประเด็นถ้าได้รัฐบาลที่เอาจริงเอาจังกับนโยบาย
เรื่องต้นทุนยา ถ้าสามารถบริหารจัดการการจัดซื้อยาให้ได้ scale ใหญ่ๆ ก็สามารถดูแลต้นทุนได้ดีขึ้น ส่วนเรื่องการรวม 3 กองทุน ประเด็นอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำของสิทธิ ก็เป็นเรื่องของการจัดการที่ต้องมานั่งไล่ดู ขณะที่ประเด็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัญหากับประเทศไทย ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ การป้องกันไม่ให้มีการมีการเจ็บป่วยหรือโรคที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งเรามี Big Beta มูลค่ามหาศาลใน สปสช. ถ้าพูดในเชิงธุรกิจ ถ้าธุรกิจไหนมีข้อมูลขนาดนี้จะเป็นมูลค่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง สามารถเข้าใจพฤติกรรมของคน เข้าใจว่าคนแบบไหนที่เป็นโรค คนที่มีอาการของโรคเริ่มต้นพฤติกรรมทำอะไรบ้างก่อนหน้านี้ สปสช.น่าจะต้องเริ่มนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ควบคู่ไปเรื่องการป้องกันโรค
"ผมอยากจะสรุปตรงนี้ว่า บทบาทของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ใช่บทบาทในเชิงที่ประคับประคองให้งานของสปสช.เดินหน้าต่อไปเป็นแบบ routine มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่รออยู่ข้างหน้ามี ผมอยากเห็นบทบาทของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและตัวผู้บริหารมองในเชิงยุทธศาสตร์ว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป ทำอย่างไรที่ไม่มานั่งคิดในประเด็นจุกจิก แล้วทุ่มเทกับเรื่องเทคโนโลยี เรื่องยุทธศาสตร์ อย่างเต็มกำลัง นี่คือโอกาสสำคัญ 18 ปีที่แล้วเราเริ่มต้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนครั้งใหญ่ ต่อไปหวังว่าจะเห็น สปสช. สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ทำให้หลักประกันชนของไทยเป็นหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
- 7 views