(1) สร้าง ‘ความเข้าใจ’ และ ‘การยอมรับ’ (Acceptability)
จากความเชื่องมงายในความเป็น ‘โอสถอำมฤต’ ของกัญชา กับการรักษาโรคครอบจักรวาล จนเกิดเป็นกระแส ‘กัญชาฟีเวอร์’ ในสังคมไทย และด้วยความอิสระเสรีของโลกออนไลน์ ที่ทำให้เกิดการแชร์ความรู้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกัญชาออกสู่ประชาชนอย่างแพร่หลายในวงกว้าง โดยที่กลไกความยุติธรรมของภาครัฐไม่สามารถทำอะไรได้เลย ในขณะที่บุคลากรในระบบสาธารณสุขถึงกับต้องน้ำตาตก เพราะคิดไม่ถึงว่า คุณภาพมาตรฐานด้านยาและการแพทย์ที่เคยร่ำเรียนมายาวนาน ถึงขั้นตอนมากมายกว่าที่จะเข็นยาสักตัวออกสู่ตลาดและถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ จะต้องผ่านทั้งขั้นตอนการศึกษาในหลอดทดลองก่อนจะไปถึงการศึกษาในสัตว์ทดลอง และค่อยเข้าสู่ระยะการวิจัยในมนุษย์อีกถึง 4 ระยะ ทำให้การคิดค้นยาใหม่สักหนึ่งตัวจะต้องใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาอย่างน้อย 10-15 ปี และใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 800 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยาจริง ๆ
ทำให้นโยบายการปลดล็อคกัญชาที่ผ่านมา ได้สร้างความขัดแย้งต่อแนวคิดของบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก แม้จะมีการกล่าวอ้างถึงงานวิจัยกัญชาในระดับสากล แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการวิจัยในทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีมาตรฐานการสกัดสารและวัดปริมาณสารออกฤทธิ์แต่ละตัวได้อย่างชัดเจน ทำให้ทราบว่ามีสารสำคัญปริมาณเท่าไร รูปแบบผลิตภัณฑ์และวิธีการให้ยาเป็นอย่างไร มีสรรพคุณรักษาโรคใดได้บ้าง ซึ่งถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการสั่งใช้ยาสารสกัดกัญชา ขณะที่การวิจัยตำรับกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ดูเหมือนจะไม่สามารถพิสูจน์ทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาได้เลย เนื่องจากในตำรับยาแผนไทยมักประกอบไปด้วยสารกว่าร้อยชนิด ซึ่งยากต่อการกำหนดปริมาณสารสำคัญที่แน่นอนตายตัว อีกทั้งการแพทย์แผนไทยจะเน้นไปที่การใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา ผนวกรวมเข้ากับประสบการณ์ของหมอยาพื้นบ้าน จึงเห็นได้ว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หลักฐานการวิจัยทางการแพทย์แผนไทยมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่สามารถระบุฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและข้อบ่งใช้ได้แบบเป๊ะ ๆ เหมือนเช่นยาแผนปัจจุบัน แต่แนวคิดเหล่านี้กลับเสมือนเป็นขวากหนามขนาดใหญ่ที่ขัดขวางการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาอยู่ในทุกวันนี้
นอกจากนี้ ความสงสารต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกวิธี จนทำให้เกิดความเจ็บป่วยต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกที และการเสียโอกาสจากการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน จนทำให้โรคเดิมเกิดกำเริบหรือทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยที่มียาสารสกัดกัญชาอยู่ในมือ แต่กลับ ‘ไม่กล้า’ ที่จะสั่งใช้ เพราะเกรงว่าจะต้องรับผิดชอบกับ ‘ความเสี่ยง’ ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระงานในขั้นตอนการตรวจซักประวัติที่จะต้องมีความละเอียดถี่ถ้วนเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้จริง ๆ ว่าผู้ป่วยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแทรกซ้อนที่เป็นข้อควรระวังของยาสารสกัดกัญชา
นโยบายการปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ ได้สร้างปรากฏการณ์การเชื่อมต่อกันระหว่างระบบการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยมากขึ้น ดังนั้นราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่าง ๆ สมาคมวิชาชีพแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขสาขาวิชาต่าง ๆ ตลอดจนโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศควรพิจารณาจุดยืนทางวิชาชีพของตน โดยยึดมั่นในหลักฐานทางวิชาการเชิงประจักษ์ที่หนักแน่นว่ากัญชาสามารถรักษาโรคใดได้ผล ประเด็นความปลอดภัย และคุณภาพมาตรฐานของยาสารสกัดกัญชา ในทางกลับกัน ก็ต้องไม่สร้างอคติในการพิจารณาการใช้ยาสารสกัดกัญชา หากผู้ป่วยมีความจำเป็นหรือข้อบ่งใช้ที่ต้องได้รับยาสารสกัดกัญชาในการรักษา การสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นในยาสารสกัดกัญชาให้แก่บุคลากรสาธารณสุขถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยเป็นประทีปส่องทางให้ประชาชน เพื่อช่วยปกป้องทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น ทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขและปัญหาทางกฎหมาย
(2) จัดให้มีอย่าง ‘เพียงพอ’ และ ‘ทั่วถึง’ (Availability)
เมื่อบุคลากรทางการแพทย์แผนปัจจุบันผู้มียาสารสกัดกัญชาอยู่ในมือ แต่กลับไม่กล้าสั่งใช้ ขณะที่แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ยาสารสกัดกัญชาในการรักษา แต่กลับไม่มียาเพียงพอจ่ายให้แก่ผู้ป่วย จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ ‘ผู้ป่วยต้องหาที่พึ่งพิงเอง’ โดยการหันไปเลือกใช้กัญชาผิดกฎหมายในตลาดมืด ไม่เพียงเท่านั้น ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตรงกันของประชาชนถึงข้อกฎหมายว่า เมื่อปลดล็อคกัญชาแล้ว กัญชาก็จะไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ประชาชนสามารถใช้กัญชาได้อย่างเสรี จึงเป็นที่มาของธุรกิจกัญชาผิดกฎหมายในตลาดมืดที่โตวันโตคืนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่องทางการซื้อ-ขายผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้นโยบายปลดล็อคกัญชาเสรีเพื่อหวังที่จะนำกัญชาใต้ดินขึ้นมาให้ถูกกฎหมายให้รัฐบาลควบคุมผลิตภัณฑ์กัญชานอกระบบได้ตามเป้าประสงค์ และแก้ปัญหาการค้าขายกัญชาไม่ได้มาตรฐานในตลาดมืด ส่อแววจะท่าดีทีเหลว เมื่อสถานการณ์จริงกลับพบว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาที่ไปถึงประชาชนจริงนั้นไม่สามารถควบคุมดูแลได้เลย
ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาจนถึงในขณะนี้พบว่า ภาคประชาชนมีการสั่งซื้อน้ำมันกัญชา/ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาจากตลาดมืดมาใช้เพิ่มขึ้น โดยหลังจากที่มีการประกาศผ่อนปรนให้ใช้กัญชาทางการแพทย์มาประมาณครึ่งปีเศษ กลับพบว่ามีการจับกุมดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับกัญชาเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงที่ยังไม่มีการประกาศผ่อนปรนเสียอีก ส่งผลให้ตัวเลขประชากรผู้เสพยาเสพติดปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1.3 แสนคน และเกือบ 100% ของจำนวนผู้เสพที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นกลุ่มผู้เสพกัญชาหน้าใหม่ โดยจากการข่าวพบว่า มีประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาใต้ดินถึงประมาณ 800,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้ากัญชามาจากประเทศเพื่อนบ้านตามตะเข็บชายแดนปีละหลายสิบตัน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นสารสกัดในประเทศไทย ก่อนจะส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศที่สามต่อไป
เพราะฉะนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ประชาชนต้องทราบก่อนว่า แม้จะมีการประกาศใช้นโยบายปลดล็อคกัญชาเสรี แต่กัญชาก็ยังคงสถานะเป็น ‘ยาเสพติด’ เพียงแต่มีการผ่อนปรนให้ใช้เพื่อรักษาโรคที่เป็นข้อบ่งใช้ของกัญชาและควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ใช่การปล่อยให้เสพเพื่อความบันเทิงกันได้อย่างเสรีตามที่ประชาชนเข้าใจกัน และไม่ไช่การปล่อยให้ใช้ประชาชนทั่วไปหาซื้อมาใช้ด้วยตัวเองได้ตามใจชอบโดยไม่มีการควบคุม เพราะยังถือว่าเป็น ‘สิ่งผิดกฎหมาย’
(3) ‘เข้าถึงได้’ ต้อง ‘เท่าเทียม’ (Accessibility)
ตามที่ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เพื่อจัดตั้งสถาบันพืชยาเสพติดฯ ทำให้มีนักวิชาการและนักกฎหมายหลายท่านออกมาให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาที่ผูกขาดอำนาจโดยภาครัฐ กล่าวคือ การเสนอให้สถาบันพืชยาเสพติดฯ เป็นหน่วยงานเพื่อรับซื้อพืชยาเสพติด จะทำให้นโยบายที่กำหนดให้ประชาชนในระดับครัวเรือนปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครัวเรือน เป็นการผูกขาดการขายให้กับเฉพาะสถาบันพืชยาเสพติดฯ เท่านั้น จึงเกิดคำถามว่า “แล้วแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้าน จะต้องซื้อกัญชาจากสถาบันพืชยาเสพติดฯ เท่านั้นหรือไม่?” อย่างไรก็ตาม โครงสร้าง อำนาจ หน้าที่ของสถาบันพืชยาเสพติดฯ ยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดและอาจมีความกังวลเรื่องการตรวจสอบได้
แต่ประเด็นที่เป็นอุปสรรคมากกว่า คือ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่ยังดูจะเป็นการควบคุมที่เข้มข้นเกินไป จนทำให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน หรือรัฐวิสาหกิจชุมชนไม่สามารถเพาะปลูกกัญชาเองได้ หากไม่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หมายความว่า ในขณะนี้องค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการปลูก ผลิต และกระจายยาสารสกัดกัญชาให้แก่สถานพยาบาลและหน่วยงานที่มีบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันโดยตรง ส่วนโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นอาจาโร จะผลิตตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม 5 ตำรับ โดยแม้จะกล่าวว่าเป็นนโยบายปลดล็อคกัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย แต่เสมือนว่าในระยะ 5 ปีแรกนี้ ภาครัฐยังเป็นผู้ผูกขาดการเข้าถึงกัญชาของแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านอยู่ หรือนี่อาจจะเป็นเพียงเสรีแต่ชื่อนโยบายอันสวยหรูเพียงเท่านั้น!
จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีระบบจัดการใหม่ที่กำหนดบทบาทของชุมชนให้มีสัดส่วนเข้มข้นมากกว่าบทบาทของภาครัฐ หรือเป็นการจัดการร่วมโดยเอาชุมชนเป็นฐานหลัก ชุมชนควรจะต้องสามารถกำหนดเงื่อนไขให้สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ได้เอง โดยที่ภาครัฐจะส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน และดูแลปกป้องผลประโยชน์ของทุกชุมชนในภาพรวม รวมถึงจัดสร้างช่องทางให้ภาคประชาชนเข้าถึงระบบบริการทั้งทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยได้อย่างเท่าเทียมและเหมาะสมตามหลักวิชาการ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากภาพรวมทั้งสองระบบว่า ผู้ป่วยมีทางเลือกอะไรบ้าง ทางเลือกแต่ละทางมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เหมาะสมกับสภาพเงื่อนไขของผู้ป่วยอย่างไร การได้รับยาจากทั้งสองระบบจะทำให้เกิดผลที่ตามมาอย่างไรได้บ้าง ผู้ให้บริการในแต่ละระบบมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ทั้งในแง่ของการวินิจฉัยโรค การสั่งจ่ายยา เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุดจากการรับบริการแบบองค์รวมจากทั้งสองระบบ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการวิจัยในรูปแบบ Actual Used Research เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลการวางแผนและติดตามผู้ป่วย เพื่อใช้เป็นข้อเสนอแนะในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับหน่วยงานหรือสถานพยาบาลต่อไป
อีกหนึ่งความกังวลที่เกิดขึ้น คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการที่อาจจะมีบริษัทเอกชนเข้ามาผูกขาดสัมปทานธุรกิจกัญชาในอนาคตอันใกล้ เพราะด้วยความยุ่งยากซับซ้อนในทุก ๆ ขั้นตอนของการศึกษาค้นคว้าและงบประมาณมหาศาลในการวิจัย การพัฒนายาแต่ละตัวจึงทำโดยบริษัทเอกชนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีแรงจูงใจในผลประโยชน์จากการแสวงหากำไรที่มากกว่า ทำให้เมื่อมีการจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาเป็นยาตัวใหม่ จะทำให้เกิดประเด็นในเรื่องการกำหนดราคายาสารสกัดกัญชาที่อาจมีมูลค่าสูงเกินไป จนทำให้สุดท้ายประชาชนก็จะไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์ของกัญชาเสรีได้ในที่สุด
(4) รับมือ ‘ราคายา’ และ ‘ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ’ (Affordability)
เมื่อกัญชาคือต้นพืชสมุนไพร สังคมจึงเกิดคำถามว่า ‘กัญชาแพง เพราะอะไร?’ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจข้อเท็จจริงทางเศรษฐศาสตร์ก่อนว่า การที่กัญชามีราคาแพง ไม่ได้เป็นเพราะมันเป็นพืชหายากแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะข้อกฎหมายที่ทำให้อุปทาน (Supply) มีจำกัด ซึ่งตามกลไกตลาด เมื่ออุปทานมีน้อย ราคาก็ย่อมสูงขึ้นจากความแตกต่างระหว่างอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) เป็นธรรมดา ส่งผลให้ราคาสารสกัดจากกัญชาที่ซื้อ-ขายกันในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 600,000 บาทโดยประมาณ แต่ด้วยความมุ่งหวังของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งจะต้องเป็นไปเพื่อตอบโจทย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ ‘ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างปลอดภัย เท่าเทียม เพิ่มการพึ่งพาตนเอง โดยไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มากจนเกินไป’ จึงได้เกิดประเด็นการเร่งผลักดันยาสารสกัดกัญชาเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่การจะนำยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติได้นั้น ยาสารสกัดกัญชาจะต้องผ่านการรับรองทะเบียนตำรับยา (Approved drug) เสียก่อน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการต่าง ๆ เพื่อเป็นการประกันคุณภาพของยา อาทิ สถานที่ผลิตต้องได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา (GMP) มีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ สารปนเปื้อน โลหะหนักอย่างแม่นยำ สามารถระบุแหล่งที่มาและสายพันธุ์กัญชาที่ผ่านการรับอนุญาตจาก อย. รวมถึงมีข้อมูลการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ในมนุษย์ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้ยาไม่ก่อให้เกิดการเสพติดหรือการนำไปใช้ในทางที่ผิด ถ้ามีผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็ต้องติดตามได้ นี่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการจะนำยาสารสกัดกัญชาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติให้ประชาชนได้ใช้กันฟรี ๆ
อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นนี้จะต้องทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้และผลการรักษาว่าเป็นอย่างไร เพื่อพิสูจน์ว่าการใช้ยาสารสกัดกัญชารักษาโรคได้ผลถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ หากพบว่ามีความต้องการใช้จริงและผลการติดตามเป็นที่น่าพึงพอใจ รัฐบาลก็จะดำเนินการเสนอเข้ามายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณาบรรจุยาสารสกัดจากกัญชาที่ได้ผลดีเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติและจัดหางบประมาณมาสนับสนุนต่อไป ซึ่งจะต้องครอบคลุมผู้ป่วยทุกรายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยในระบบก็จะสามารถเข้าถึงได้ตามสิทธิการรักษา ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งจะเป็นหนทางที่ดีในการลดค่าใช้จ่ายของทั้งภาคประชาชนและภาครัฐเองด้วย
ในอีกมุมหนึ่ง ตัวอย่างของกระแสความเชื่องมงายจากการปั่นข่าวสรรพคุณ ‘โอสถอำมฤต’ ของกัญชานั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาหนักตามมาสู่ระบบสุขภาพในระยะยาวจากการใช้ในทางที่ผิด ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อสถานะงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน ทำให้ในท้ายที่สุดแล้วภาครัฐเองอาจต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หากไม่มีการวางกลยุทธ์และมาตรการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้น
(5) บริหารจัดการ ‘ความเสี่ยง’ และ ‘ความปลอดภัยต่อสาธารณะ’ (Administration)
การพัฒนาระบบการติดตามกัญชาทางการแพทย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Cannabis Tracking System) อาจเป็นอีกหนึ่งทางออกที่สนับสนุนความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กัญชาว่าจะอยู่ภายใต้การควบคุมตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Integrity) เมื่อวิเคราะห์ถึงประเด็นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ก็คงจะหนีไม่พ้นแนวทางหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานสากลทั้งหมด (GAP, GLP, GMP, GDP, GCP, GIP) แต่สิ่งที่ทำให้กัญชาแตกต่างจากพืชสมุนไพรอื่น ๆ คือ สถานะความเป็นยาเสพติดของมัน ที่สร้างความซับซ้อนให้การวางระบบควบคุม โดยจะต้องมีหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัย (GSP) แทรกอยู่ในทุก ๆ ขั้นตอนตลอดกระบวนการของการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิตและแปรรูป การเก็บรักษา การจัดส่ง การสั่งใช้ จนกระทั่งถึงมือผู้ใช้ยา ซึ่งจะส่งผลให้ทุกขั้นตอนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ตั้งแต่ปลายน้ำ กลางน้ำ กลับไปจนถึงต้นน้ำ ทั้งในเรื่องปริมาณ ตำแหน่งที่ตั้งพื้นที่เพาะปลูก สภาพแวดล้อมการผลิต-การเก็บรักษา-การกระจายยาไปสู่โรงพยาบาลและสถานบริการกัญชาทางการแพทย์ รวมถึงการป้องกันปัญหาการปลอมปน ปลอมแปลง และการรั่วไหลของกัญชาออกนอกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งประเด็นที่คงจะสำคัญไม่แพ้กัน คือ การพัฒนาระบบการจัดการเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา อันเป็นกระบวนทัศน์ที่เป็นระบบตั้งแต่การตรวจจับสัญญาณ (Risk Detection and Reporting) โดยบุคลากรในระบบสาธารณสุข ผู้ป่วย หรือประชาชนทั่วไปจะต้องเห็นความสำคัญของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชา และทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา รายงานผลเข้ามายังศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยนี้ ซึ่งจะต้องครอบคลุมผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ทุกประเภท อาทิ ผลิตภัณฑ์กัญชาเกรดทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ รวมถึงกัญชาจากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย (ผลิตภัณฑ์กัญชาใต้ดิน) ซึ่งจะนำเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพและสังคม (Risk Assessment) อาทิ ความเสี่ยงจากการใช้กัญชาในเด็ก เยาวชน และประชากรกลุ่มเสี่ยง การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ผิดกฎหมายหรือผิดวิธี เพื่อสร้างระบบการสื่อสารแจ้งเตือนภัย (Risk Communication) และเสนอมาตรการในการลดความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและสาธารณะจากการใช้กัญชา (Risk Control Measures) ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของสังคมไทยในขณะนั้น ๆ ได้อย่างทันถ่วงที
ดังนั้น เมื่อพูดถึงการดำเนินนโยบายและการวางระบบควบคุมการใช้กัญชาเสรีทางการแพทย์ของประเทศไทยแล้ว ภาครัฐจะต้องยึดหลักการดูแลผู้ป่วยและประชาชนในสังคมเป็นหัวใจสำคัญ โดยคำนึงถึงประโยชน์ (Benefit) และความเสี่ยง (Risk) ในทุก ๆ มิติ ทั้งผู้ป่วย บุคลากรในระบบสาธารณสุขผู้ให้บริการ ไปจนถึงความปลอดภัยมั่นคงของประเทศ สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของภาคประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบาย และไม่ตัดสินใจโดยอิงแต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจถูกปั่นให้เกิดกิเลสแบบได้ไม่คุ้มเสีย การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันอย่างชัดเจนในสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดในขณะนี้ นโยบายการใช้กัญชาเสรีทางการแพทย์ในประเทศไทยจะต้องเป็นการประสานความร่วมมือกันของทั้งภาควิชาการ ภาครัฐบาล และภาคประชาสังคมทุกฝ่ายที่จะต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง และมีระบบควบคุมที่เข้มข้นเหมาะสมในการจัดการความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบทางลบเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมโดยรวมได้อย่างเข้มแข็ง
ผู้เขียน : ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน
- 1279 views