สถานการณ์ความรุนแรงของโรคระบาด “โควิด-19” (COVID-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลก ก็ต่างออกมาตรการเพื่อควบคุมโรคระบาดนี้ ซึ่งในประเทศไทยเองก็ได้มีการออกมาตรการต่างๆ อาทิ “มาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข” ในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค การตรวจหาการติดเชื้อ การรองรับการกักกันผู้ป่วย และ “มาตรการด้านสังคม” ในการลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ โดยการสร้างพฤติกรรมสุขลักษณะ เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น รวมไปถึงรณรงค์ให้ยกเลิกกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การเพิ่มระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing และการประกาศใช้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินและกำหนดเวลาเคอร์ฟิวบางช่วงเวลา หรือ Semi-lockdown ที่เราเรียกว่า ‘ปิดบ้านปิดเมือง’ เพื่อบังคับให้ประชาชนทุกคนอยู่ภายในบ้านของตน รวมทั้งการสั่งปิดธุรกิจกิจการต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ
แม้ภายหลังการใช้มาตรการ Semi-lockdown ในประเทศไทย จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วบางส่วน แต่ในมุมมองของ ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มองว่า มาตรการนี้ควรดำเนินการเพียงชั่วคราวในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ กิจการร้านค้าที่ต้องปิดตัวลง การเดินทางและการขนส่งที่ต้องถูกจำกัด ภาคการศึกษาต้องหยุดชะงัก ประชาชนขาดรายได้ หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งยังสร้างความตึงเครียดและความกดดันทางจิตใจให้กับประชาชนทุกคน ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพของครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการช่วยเหลือเยียวยาภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ดร.ภก.อนันต์ชัย แนะนำแนวทางปลดล็อกประเทศอย่างไรให้เอาอยู่? เมื่อต้องสู้กับโควิด-19 ต่อไป ระบุว่า ประเทศไทยต้องหาทางออกในการแก้ไขวิกฤติโควิด-19 พร้อมทั้งลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างได้ผล การจะประกาศชัยชนะทั้งประเทศ ด้วยการไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเลย ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน แล้วประกาศ “เปิดประเทศพร้อมกันหมดทุกภาคส่วน โดยไม่มีมาตรการควบคุมเลยนั้น เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้” ต้องดำเนินการภายใต้การสร้างสมดุล ควบคุมโรคให้เกิดการแพร่ระบาดในระดับที่ต่ำ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับการรักษาได้ทัน ในขณะเดียวกันก็เริ่มทยอยเปิดให้ประชาชน ประกอบอาชีพและภาคธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจไม่หยุดชะงัก ดังนั้น การวางมาตรการเปิดเมือง (Exit Strategy) ภายหลังการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องเป็นไปในลักษณะของการ “คลายล็อกออกทีละส่วน” เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติในวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal Life) ที่อาจจะไม่สะดวกสบายเช่นเดิม
“ประชาชนทุกคนจะต้องตระหนักรู้ก่อนว่า การแพร่ระบาดของเชื้อนี้จะยังไม่หายไปทั้งหมด ยังมีโอกาสจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ซ้ำขึ้นมาได้อีก ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราควบคุมสถานการณ์ได้ ภายหลังจากประกาศเปิดเมืองไปแล้ว คือต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย รัฐบาลที่จะต้องเสนอและดำเนินมาตรการ และประชาชนทุกคนในสังคมที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด”
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแนวทางบริหารจัดการแบ่งตามกลุ่มและประเภท ดังนี้
1. มาตรการสำหรับภาคธุรกิจ ภาคบริการ ภาคการศึกษา ภาคขนส่งและคมนาคม - ก่อนจะเริ่มเปิด แต่ละภาคส่วนจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และความพร้อมในการป้องกันโรคของทุกกิจการและกิจกรรม เช่น โครงสร้างสถานที่ การตรวจคัดกรอง/การตรวจระดับภูมิคุ้มกัน ก่อน-หลังเข้าพื้นที่ เมื่อเริ่มเปิดแล้ว ทุกกิจการจะต้องมีการกำหนดรูปแบบการประกอบการ หรือการให้บริการใหม่โดยยังคงมาตรการ Social Distancing เช่น การจำกัดจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการในร้าน สำหรับธุรกิจหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สนามมวย สนามพนัน สถานบันเทิง ผับ บาร์ จะยังคงไม่สามารถเปิดให้บริการได้ และจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบเพื่อให้ธุรกิจนั้นปรับตัว โดยมี ‘สารวัตรสาธารณสุข’ เป็นผู้ตรวจสอบธุรกิจ กิจการ ร้านค้า หรือสถานบริการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
2. มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข - จะไม่มีการผ่อนปรนสำหรับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สถานพยาบาลทุกแห่งยังคงต้องเตรียมความพร้อมในสอบสวน กักกัน และควบคุมโรคตลอดเวลา เช่น การจัดพื้นที่ให้แก่ผู้ป่วยอาการน้อย รอหายป่วยและผู้ที่อยู่ระหว่างเฝ้าสังเกต เพื่อให้มีเตียงว่างพอสำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง ต้องมีการพัฒนาศักยภาพห้องตรวจปฏิบัติการตรวจหาเชื้อ (RT-PCR) และวิธีการตรวจระดับภูมิคุ้มกัน (Rapid test) เพื่อรองรับในกรณีที่มีการระบาดระลอกใหม่ โดยตรวจภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคตลอดเวลา และสามารถปรับเปลี่ยนมาตรการควบคุมได้อย่างทันถ่วงที
3. มาตรการทางสังคม - พฤติกรรมการป้องกันโรค โดยการล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัยในชุมชน และมีการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ยังคงต้องกระทำต่อไป การจัดงานบุญ งานแต่งงาน งานศพ งานบวช และการประกอบศาสนากิจ สามารถกระทำได้ภายใต้มาตรการความปลอดภัยในการจัดงาน เช่น ลดจำนวนแขกร่วมพิธีเฉพาะผู้ใกล้ชิด ขณะที่มาตรการเยียวยาจากภาครัฐจะยังคงต้องดำเนินการต่อไป ให้ครอบคลุมและเข้าถึงประชากรทุกระดับ เช่น การพักชำระหนี้ การลดภาษี การผ่อนชำระ
- 32 views